เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่วัดบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน และเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “เสียงสะท้อนคนลุ่มน้ำชี ถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่รวมศูนย์ของรัฐ”โดนมีชาวบ้านกว่า 300 คนเข้าร่วมโดยทั้งหมดเห็นพ้องให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และขอให้เเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนในหลายพื้นที่ เช่น เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย รวมทั้งการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในการจัดการน้ำภาคประชาชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ให้เหมาะสมกับการจัดการน้ำที่ประชาชนเข้าถึงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
นายจันทรา จันทาทอง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า นโยบายของรัฐทำให้ชาวบ้านเจอปัญหา ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมทำให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเสียหาย กระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างสูญหาย ซึ่งชาวบ้านพยายามเรียกร้องต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่หน่วยงานรัฐได้เตะถ่วงกระบวนการแก้ไขปัญหา ผลลัพธ์ที่พี่น้องเรียกร้อง รัฐกลับเลือกผลักดันนโยบายมาให้แทนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายนิมิต หาระพันธ์ กรรมการเครือข่ายชาวบ้านน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร กล่าวว่า ความมั่นคงในการประกอบอาชีพเปลี่ยนแปลงไป จากเคยมีวัว ควาย นาข้าว ป่าทาม ตอนนี้หายไปหมดแล้ว ก่อนการสร้างเขื่อนไม่เคยอดอยู่อดกิน หาอยู่หากินได้ตลอด หลังจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีถึงปัจจุบัน แม่น้ำชีถูกกระทำจากการจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐ ประชาชนเดือดร้องและต้องมารับผลที่เกิดขึ้น พ.ศ. 2553-2554 เราเริ่มมีการเรียกร้อง เมื่อรัฐสร้างเขื่อนก็ควรต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย
นายสิริศักดิ์ สะดวก เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวว่า เราควรมองไปถึงโครงสร้างในการพัฒนา การกำหนดนโยบายการจัดการน้ำในประเทศไทย ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำกว่า 20 หน่วยงาน กฎหมายกว่า 30 ฉบับ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ผู้ที่รับชะตากรรมคือประชาชน น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรมากกว่า 2 เดือน ต้องอพยพขนสิ่งของ วัวควาย เป็นความเดือนร้อนจากการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐ ในอดีตเรามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแม่น้ำชี มองน้ำชีเป็นวิถีชีวิต ไม่ได้แยกน้ำออกจากวิถี เป็นความผูกพันธ์ที่มีต่อแม่น้ำ แต่พอมีนโยบาย โขง ชี มูล วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยนไปเพราะรัฐพยายามจัดระเบียบในการใช้น้ำโดยใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการเข้ามาควบคุม
“เขื่อนถูกสร้างขึ้นขวางกั้นแม่น้ำชี 6 ตัว พอสร้างเสร็จเมื่อประมาณปี 2543 มีการทดลองกักเก็บน้ำก็สร้างปัญหาขึ้นมาทันที ทำให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการสร้างฝายยาง แต่ในความเป็นจริงคือการสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรยาวนานและขยายวงกว้าง ทำให้ชาวบ้านต้องได้รับชะตากรรมที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม เขื่อนเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้จริง”นายสิริศักดิ์ กล่าว
นายสิริศักดิ์กล่าวว่า ในอดีตก่อนการสร้างเขื่อนเคยมีน้ำท่วมเกิดขึ้น เป็นน้ำหลาก น้ำมาแล้วก็ไป แต่ปัจจุบันคือน้ำขังท่วมซ้ำซาก ในหลักการของชาวบ้านนอกจากเจอนโยบายโครงการ โขง ชี มูล แล้ว ยังต้องกังวลและลุกขึ้นมาเรียกร้องแบบปฎิเสธโครงการโขง เลย ชี มูล ที่กำลังดำเนินการ โดยที่ผลกระทบจากโขงชีมูลยังไม่ได้รับการแก้ไขไม่เสร็จ โดยตนมีข้อเสนอ 1.ให้ยุติการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการ โขง เลย ชี มูล 2.เราจะทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA)การจัดการน้ำชีภาคประชาชนแบบมีส่วนร่วม
น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายไม่ได้เรียกว่าการสร้างเขื่อนหรือฝายแล้ว แต่เรียกโครงการผันน้ำซึ่งเป็นวิธีการของรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่มองแล้วล้มเหลวเหมือนโครงการจัดการน้ำที่ผ่านมา โดยหลังรัฐประหารรัฐบาลไม่เข้าใจการจัดการน้ำ แต่เข้าใจการจัดการน้ำเป็นวัตถุ และบอกว่าจะทำให้เจริญแต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น
“การสร้างเขื่อนไม่สามารถจัดการปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ เขื่อนกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ ชาวบ้านได้รับความเจ็บปวดจากการสร้างเขื่อน วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ปลาที่เคยหาง่ายก็หายไป เหลือแต่ปลาที่อยู่ในอุตสาหกรรมการประมง รัฐและนายทุนผูกขาดการสร้างเขื่อนทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ รัฐได้ละเมิดและทำร้ายสิทธิของประชาชนหลายอย่าง การใช้อำนาจของรัฐไม่เห็นหัวประชาชน ประชาชนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ความล้มเหลวเกิดจากรัฐและนายทุนผูกขาด อีสานถูกมองว่า โง่ จน เจ็บ แห้งแล้ง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมาตลอด ดังนั้นต้องขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ต้องเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชุมชน”น.พ.นิรันดร์ กล่าว
รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ ผู้เชี่ยวชาญประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า 30 ปี โขง ชี มูล แม่น้ำชีซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เราสามารถใช้น้ำได้อย่างอิสระ แต่ต่อมารัฐมามีอำนาจในการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศ ทั้งคน ดิน น้ำ ป่า ออกกฎหมายควบคุมทุกอย่าง รัฐเข้ามาจัดการน้ำแต่เพียงผู้เดียว น้ำคือทรัพยากรของรัฐที่รัฐเป็นเจ้าของ ทั้งๆที่น้ำเกิดมาจากธรรมชาติไม่ได้เกิดจากรัฐ ดังนั้นควรดึงอำนาจจากรัฐออกมาสู่ประชาชน รัฐต้องกระจายอำนาจมาให้ประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำได้ หากรัฐยังจัดการน้ำอยู่ปัญหาก็จะเกิดขึ้นไม่จบไม่สิ้น โครงการต่าง ๆ กลายเป็นดังขนมหวานของรัฐ ผลประโยชน์อยู่ที่รัฐ แต่ความเดือดร้อยอยู่ที่ประชาชน โครงการโขง ชี มูล เป็นโครงการที่ตกยุคไปแล้ว