วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2024

สาวอีสานฝ่าเสียงดูแคลน คว้ารองแชมป์มาสเตอร์เชฟสวีเดน 2019 ต่อยอดธุรกิจอาหารไทย

  • วิชุตา ครุธเหิน
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

Wichudaporn Chaiyasaeng

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

“โง่ดักดาน” คือหนึ่งในบรรดาถ้อยคำดูหมิ่นที่ วิชุดาพร ไชยแสง หรือ แนน ได้เผชิญแล้วแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตนเองจนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในรายการแข่งขันทำอาหารยอดนิยม “มาสเตอร์เชฟ สวีเดน” (Sveriges mästerkock) ซีซัน 9 ที่ออกอากาศในปี 2019

วิชุดาพร สาวอีสานจากยโสธรเล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้เพียบพร้อม หรือประสบความสำเร็จทางการศึกษา แต่ได้ใช้ทักษะการทำอาหารที่เธอรักกรุยทางสร้างโอกาสและชื่อเสียงให้ตัวเอง รวมทั้งทำให้คนสวีเดนได้รู้จักกับอาหารไทยมากขึ้นผ่านการร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของสวีเดนผลิตอาหารกล่องแช่แข็งเมนูไทย ๆ ออกจำหน่ายไปทั่วประเทศนี้

รสอาหารในวัยเยาว์

การทำอาหารเป็นสิ่งที่วิชุดาพรได้ซึมซับจากแม่มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เธอเล่าว่าเติบโตมาในครอบครัวชาวนา และคุณแม่ก็ทำอาหารเก่งจึงขายอาหารหารายได้เลี้ยงครอบครัวไปด้วย

“ตั้งแต่เด็กแล้ว แม่พาทำ (อาหาร) พอโตขึ้นมาเราก็ชอบ เวลาแม่หมักไก่หรือทำอะไรเขาจะนั่งอยู่ตรงชาน เขาจะหมักแล้วเขาจะเรียกเราว่า ‘หนูมาลองชิมมา’…แล้วเวลาแกตำเครื่องแกงอะไรแกจะบอกเราว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ แม่จะเก่งอาหารไทย ก็เลยได้จากแกมา ก็เลยชอบ”

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

คำบรรยายภาพ,

วิชุดาพร (ชุดแดงลายจุด) ในวัยเด็ก

ในวัย 20 ปี วิชุดาพรย้ายไปอยู่ฉะเชิงเทรา แล้วนำความรักในการทำอาหารไปเปิดร้านอาหารของตัวเอง แต่ด้วยที่ยังด้อยประสบการณ์ ธุรกิจของเธอจึงไปไม่รอด ทำให้ต้องย้ายกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดยโสธร และช่วงนั้นเองเธอก็มีลูกชาย 2 คนกับสามีคนไทย

ทว่าในเวลาต่อมา ชีวิตคู่กับสามีคนไทยได้จบลง วิชุดาพรจึงฝากลูกไว้กับคุณแม่ แล้วออกเดินทางจากยโสธรไปทำงานเป็นพนักงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ และได้พบรักกับสามีชาวสวีเดนซึ่งพาเธอข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่สวีเดนในปี 2010

คำดูหมิ่นจากเพื่อนร่วมชาติ

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองนอกของวิชุดาพรไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด การที่เธอไม่ใช่คนเรียนหนังสือเก่ง ทำให้การเรียนภาษาสวีเดนตามหลักสูตรพื้นฐานที่ทางการจัดให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้าไปพำนักในประเทศนั้นกลายเป็นเรื่องที่แสนยากเย็น เธอเรียนซ้ำชั้นอยู่หลายครั้งจนเพื่อนคนไทยด้วยกันเอาเรื่องของเธอไปนินทาลับหลังให้ต้องเจ็บช้ำใจ

“ก็เรียนไปหลายปี เพื่อน ๆ ที่เขามาทีหลังมาอะไรก็ (เรียน) จบ คนที่เขามาก่อนปีสองปีเขาบอก ‘โอ้โห แนนอย่างโง่เลย เรียนตั้งกี่ปี’ แต่เขาไม่ได้พูดกับเรานะ เขาไปพูดกับเพื่อน เขาบอกว่าเพื่อนเธอไปพูดว่าเธอน่ะโง่…โง่ดักดาน เรียนตั้ง 4 ปี เสียใจค่ะ เสียใจมาก”

วิชุดาพรเล่าว่าตอนนั้นรู้สึกท้อแท้ที่เรียนภาษาไม่เก่งเท่าเพื่อน ๆ เพราะภาษาสวีเดนถือเป็นกุญแจสำคัญเพื่อศึกษาต่อในสายอาชีพ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูไปสู่โอกาสทำงานที่ดีในประเทศที่กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของเธอ

“ตอนนั้นหมดเขต (สอบ) แล้วแนนไม่ผ่าน ครูใหญ่เขาบอกว่าไม่สามารถให้แนนเรียนต่อได้ ร้องไห้เลยตอนนั้นน่ะ ตายแล้ว ฉันจะเรียนต่อไปยังไง ฉันจะยืนอยู่ได้ยังไง ฉันจะไปทำงานยังไง”

โชคดีที่คู่ชีวิตชาวสวีเดนคอยสนับสนุนเธอตลอดมา และเป็นคนเสนอให้เธอลองใช้ความสามารถในการทำอาหารไปสมัครแข่งขันมาสเตอร์เชฟ สวีเดน รายการทีวีที่วิชุดาพรใช้เป็นเพื่อนแก้เหงาตั้งแต่ย้ายไปอยู่สวีเดนใหม่ ๆ แม้ตอนนั้นยังฟังภาษาไม่เข้าใจก็ตาม

“เราดูทีวีนี่แหละ มาสเตอร์เชฟ เรารู้ว่าเราพูด (ภาษาสวีเดน) ไม่ได้”

แต่สามีของวิชุดาพรให้กำลังใจเธอเสมอมา บอกว่า “ที่รัก แต่เธอทำอาหารอร่อยนะ ไปสมัครมาสเตอร์เชฟไหม” แต่ตอนนั้น (ประมาณปี 2016) เธอรู้ดีว่าตัวเองยังไม่พร้อมเพราะพูดภาษาท้องถิ่นยังไม่เก่ง

“ไม่เอา ฉันยังพูดไม่ได้ ฉันจะไปเข้าใจเขาเหรอ” เธอเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้น

ในระหว่างนั้น วิชุดาพรก็ทำงานต่าง ๆ ที่เธอพอจะหาทำได้ เช่น งานทำความสะอาด ดูแลคนชรา ทำงานที่โรงอาหารของเทศบาล และร้านอาหาร แต่เธอไม่เคยทิ้งความรักในการทำอาหารไปเลย

วิชุดาพรเคยให้สัมภาษณ์กับ folk o folk เว็บไซต์อาหารและเครื่องดื่มของสวีเดนว่า เธอได้ความรู้ในการทำอาหารมากมายจากการดูรายการมาสเตอร์เชฟ โดยเฉพาะความรู้จาก เลฟ มันเนอร์สเตริม (Leif Mannerström) เชฟชื่อดังของสวีเดน หนึ่งในคณะกรรมการของรายการ

“ฉันมีความรู้สึกอยู่ลึก ๆ ที่บอกว่า ‘เขาอาจช่วยฉันได้ เขาอาจช่วยให้ฉันได้ทำอะไรบางอย่าง เขาอาจให้คำแนะนำฉันได้'” เธอระบุในการสัมภาษณ์

หลังจากใช้ชีวิตอยู่สวีเดนมาร่วม 9 ปี และเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับอาหารตะวันตก ในที่สุดวิชุดาพรก็ตัดสินใจสมัครเข้าแข่งขันในรายการมาสเตอร์เชฟปี 2019

บูลลี่

วิชุดาพร ใช้อาหารไทยอย่าง “พะแนงเนื้อกับข้าวสวย” เป็นเมนูแรกกรุยทางผ่านรอบออดิชันในระดับภูมิภาคที่มีผู้แข่งขันหลายร้อยคน แต่เมื่อได้เข้าสู่รอบที่ผู้แข่งขันทั่วประเทศถูกคัดมารวมกันจนเหลือประมาณ 45 คนแล้ว เธอกลับเจอเรื่องที่ทำให้คิดจะออกจากการแข่งขัน

แม้มั่นใจในฝีมือการทำอาหารของตัวเอง แต่วิชุดาพรรู้ดีว่าภาษาสวีเดนคือจุดอ่อนของเธอ

“พูดภาษายังไม่ได้ แต่ยังได้ผ่าน (เข้ารอบ)” คือหนึ่งในคำเหน็บแนมที่เธอได้ยินจากผู้แข่งขันคนอื่น “จะไม่ค่อยมีคนมานั่งกับเรามากมาย จะมีน้อยคนที่เข้ามาทัก บางคนเขาก็นิสัยดี บางคนก็แอนตี้เราว่ามา (แข่ง) ได้ยังไง”

“พี่ร้องไห้เลยนะ พี่โทรบอกแฟนว่าฉันจะกลับแล้วนะ ฉันจะไม่แข่งแล้ว” เธอเล่าให้บีบีซีไทยฟัง รวมถึงเรื่องที่ถูกผู้แข่งขันหญิงคนหนึ่งวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ของเธอ

“ครั้งหนึ่งเขาพูดให้เราเสียใจเลยว่า ‘ฉันไม่ชอบผู้หญิงแต่งหน้าทาปาก ฉันชอบแบบธรรมชาติ’ แล้วเขาก็มองมาที่เรา เราก็น้อยใจเพราะเราชอบแต่งหน้า” วิชุดาพรเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือแม้เวลาจะผ่านมาร่วม 2 ปีแล้วก็ตาม

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอตัดสินใจไปขอถอนตัวกับผู้ดูแลการแข่งขัน ซึ่งได้พูดให้แง่คิดและกำลังใจจนเธอฮึดสู้ต่อไป

“เขาถามเราว่าเป็นอะไรถึงอยากจะกลับ…เราก็บอกว่าไม่รู้สึกดีอะ ภาษาเราก็ไม่ได้…อ้าว? ภาษาไม่ได้แต่อาหารอร่อยไหมอะ..อร่อย เราก็บอก เขาก็หัวเราะ แล้วบอกเราว่า เธอคิดว่าอาหารเธออร่อยแล้วเธอจะกลับบ้านเหรอ กลับบ้านก็เหมือนกับคนอื่นเขาจะยิ่งได้ใจ ดีไม่ดีเธออาจจะชนะก็ได้นะถ้าเธอสู้ต่อ”

ข้อคิดนั้น ทำให้วิชุดาพรล้มเลิกความคิดจะยอมแพ้ “แค่เราพูดภาษาไม่ชัด หรือพูดภาษาไม่ได้ เราจะต้องโดดออกเพื่อให้เขามีความสุขเหรอ…ฉันต้องลองแหละ”

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

คำบรรยายภาพ,

วิชุดาพรเป็นคนไทยคนแรกได้รับคัดเลือกให้แข่งขันในรอบสุดท้ายของรายการมาสเตอร์เชฟสวีเดน

รสชาติอาหารที่น่าตื่นเต้น

แรงฮึดในครั้งนั้น ทำให้สาวจากยโสธรผู้นี้ได้รับคัดเลือกให้ติด 1 ใน 12 ผู้แข่งขันที่เข้ารอบสุดท้ายซึ่งปรากฏตัวในรายการมาสเตอร์เชฟที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของสวีเดนเมื่อต้นปี 2019

วิชุดาพรหยิบเอาความรู้ในการทำอาหารที่สั่งสมมาทั้งหมดออกมาแสดงฝีมือให้กรรมการ 3 คนได้ลิ้มลอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เลฟ มันเนอร์สเตริม เชฟคนโปรดของเธอ

“เวลาเราทำอาหารเราต้องเรียนรู้ แฟนพี่จะพาไปกินทุกอย่าง แม้กระทั่งอาหารขายตามตลาดนัด ให้ชิมทุกอย่าง และจนอาหารไฟน์ไดน์นิง (fine dinning) ร้านอาหารหรู ๆ เขาก็พาพี่ไป ก็ต้องชิมอะ ถ้าไม่ชิมเราจะไม่รู้รสชาติของอาหาร มันก็เลยทำให้พี่มีความรู้ว่าตัวนี้เราเคยชิม เอามาจับใส่ตัวนี้นะ แล้วเอามาทำเป็นซอสตัวนี้นะ หรือจะเอาแค่มาใส่กินด้วยกันมันก็อร่อยแล้ว”

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

คำบรรยายภาพ,

เครื่องปรุงและวัตถุดิบไทย ๆ คือสิ่งที่วิชุดาพรมักใช้ในการสร้างสรรค์เมนูเอาชนะใจกรรมการ

อาหารที่เธอทำในการแข่งขันครั้งนี้มีทั้งเมนูอาหารไทย และอาหารฝรั่ง รวมทั้งเมนูที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างอาหารทั้งสองประเภท เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ใส่ซอสมะขาม ซึ่งทำให้เธอได้รับคำชมจากคณะกรรมการว่าเป็น “รสชาติอาหารที่น่าตื่นเต้น”

“เขาบอกว่าเขาไม่เคยชิม แต่สิ่งที่จับมาผสมกันของเธอฟังดูแล้วมันน่าตื่นเต้น”

แต่สิ่งที่ทำให้เธอพลาดแชมป์ในการแข่งขันครั้งนี้คือการทำเมนู oxfilé provençale สเต็กสันในวัว อาหารคลาสสิกของคนสวีเดน ซึ่งเป็นเมนูที่เธอไม่รู้จักหรือเคยรับประทานมาก่อน

“ก็เลยแพ้เขา หลังจากนั้นพี่เสียใจมาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้ ถ้ารู้ว่าอาหารตัวนี้คืออะไร เราเคยเห็นหรืออะไรมาแล้วเนี่ย พี่ว่าพี่ทำได้”

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

คำบรรยายภาพ,

วิชุดาพร กับแชมป์มาสเตอร์เชฟสวีเดนปี 2019 (ขวาสุด)

ความสำเร็จหลังการแข่งขัน

แม้ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 แต่วิชุดาพรก็ได้เซ็นสัญญาเขียนหนังสือที่ชื่อ Super tasty thai! ซึ่งรวบรวมตำราอาหารไทยและอาหารชาติอื่น ๆ ตามแบบฉบับของตัวเธอเอง โดยปีที่ผ่าน ๆ มามีเพียงผู้ชนะเลิศของรายการมาสเตอร์เชฟเท่านั้นที่ได้เซ็นสัญญานี้

ขณะเดียวกันเธอยังได้ร่วมงานกับ “ดอฟโกร์ดส” (Dafgårds) บริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของสวีเดนในการออกผลิตภัณฑ์อาหารกล่องแช่แข็งหลายเมนู อาทิ ผัดไทยไก่ พะแนงไก่ และไก่เทอริยากิ ออกจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศสวีเดน และมีแผนจะออกเมนูอื่น ๆ เพิ่มอีกในปี 2021 นี้

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

คำบรรยายภาพ,

นอกจากเมนูอาหารกล่องแช่แข็งเหล่านี้ วิชุดาพรยังเตรียมจะออกผลิตภัณฑ์เมนูใหม่ ๆ เพิ่มในปีนี้ด้วย

นอกจากนี้ วิชุดาพรได้รับว่าจ้างให้สอนทำอาหารไทยจากเจ้าของกิจการร้านอาหารเคลื่อนที่ หรือ “ฟู้ดทรัค” ด้วย และได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคดีเกินคาด

“เขาเปิดได้แค่อาทิตย์นึงมั้ง คนไปซื้อเขาเยอะมาก…แล้วเขาก็โทรมาบอกว่าปิดแล้วฟู้ดทรัค ตอนแรกนึกว่าไม่มีใครซื้อ เขาบอกว่าฉันไปเช่าร้านเลย

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้วิชุดาพร คิดทำธุรกิจฟู้ดทรัคเป็นชื่อของตัวเองในปีนี้ โดยเน้นขายเฉพาะอาหารไทยเมนูเด่น ๆ แต่ความฝันสูงสุดของเธอคือการเปิดร้านอาหารหรูแบบไฟน์ ไดน์นิง ที่ขายอาหารลูกผสมไทยกับสวีเดน ทั้งในเมืองไทยและที่สวีเดน

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

คำบรรยายภาพ,

บริษัทอาหารว่าจ้างวิชุดาพรสร้างสรรค์เมนูจากวัตถุดิบที่บริษัทขาย แล้วโพสต์ภาพและวิธีทำทางโซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมการขาย

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงชีวิตในวัยเด็กที่เติบโตขึ้นมาในชนบทและอาจไม่ได้เรียนหนังสือสูงแบบคนอื่น วิชุดาพรคิดว่าตัวเองได้เดินมาไกลจากจุดนั้นมาก เธอบอกว่ารู้สึกภาคภูมิใจกับความสำเร็จในวันนี้ แม้จะยังไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เพราะมันคือสิ่งที่เธอต่อสู้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง และถึงจะได้รับการหยิบยื่นโอกาสทางอาชีพจากผู้ใหญ่ใจดี แต่ก็ต้องขวนขวายหาโอกาสให้ตัวเองด้วย ทั้งการวิ่งเสนอผลิตภัณฑ์อาหารกับบริษัทต่าง ๆ ไปจนถึงการเสนอตำราทำอาหารกับสำนักพิมพ์

“ชีวิตทุกคนมันมีไม่เหมือนกัน บางคนก็รวยบางคนก็จน แต่ถ้าเราจนเราจะทำยังไง เราก็แค่หาประสบการณ์เรียนรู้ก่อน แต่เราอย่าเพิ่งไปเริ่มขั้นสามขั้นสี่ เราเริ่มขั้นที่หนึ่งก่อน ก้าวบันไดขั้นที่ศูนย์ก่อน แล้วคิดว่าเราชอบทำอะไร ที่เราชอบทำจริง ๆ ถ้าเราทำแล้วมันต้องมองหาหนทาง ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่มองหาหนทางมันก็ไม่มีทาง”

“พี่ไม่ได้เรียนหนังสือ ขนาดไม่ได้เรียนยังมายืนถึงจุดที่แม้จะไม่ได้สูงสุด แต่ก็เป็นจุดที่ปลื้มใจมาก ๆ ว่าคนอีสาน เด็กบ้านนอกไม่มีแม้กระทั่งการศึกษา เพื่อนก็บอกเรียนโง่เรียนอะไร ยังได้มายืนทำงานขนาดนี้ พี่ก็ว่าพี่ภูมิใจ”

เมื่อถามถึงคำดูถูกจากเพื่อนร่วมชาติที่เคยทำให้ต้องช้ำใจในอดีต วิชุดาพรบอกว่า

“ขอบใจนะที่บอกว่าฉันโง่ มันเป็นแรงผลักดันให้ตัวเอง”

ที่มาของภาพ, Wichudaporn Chaiyasaeng

คำบรรยายภาพ,

ตำราอาหารเล่มแรกของวิชุดาพร

ยโสธร

ยโสธร

เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ

Next Post
















Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.