นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญในรอบ 2 ปีสำหรับเกษตรพื้นที่ลุ่มน้ำชีที่เพิ่งได้มีโอกาสปลูกพืชฤดูแล้ง เพราะที่ผ่านมาประสบกับฝนทิ้งช่วง น้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อย ซึ่งไม่สามารถสร้างรายได้จากการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักได้เลย โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรัง ทว่าในปีนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น
“ศักดิ์ศิริ อยู่สุข” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งในเขตรับผิดชอบ คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 60% ของความจุอ่าง เขื่อนอุบลรัตน์อยู่ที่ประมาณ 49-50% ส่วนเขื่อนลำปาวในปีนี้มีปริมาณน้ำเพียง 30-40% น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ภาพรวมช่วงปลายฝนเดือนกันยายน-ตุลาคมมีการเก็บน้ำไว้ใช้รวมแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 60 กว่าแห่งใน 5 จังหวัด เก็บน้ำเอาไว้ได้มากกว่า 60% ขึ้นไป ส่วนปี 2563 ที่ผ่านมารวมเพียง 20-25% เท่านั้น สถานการณ์จึงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
“ปีที่ผ่านมาเราตั้งเป้าให้ประชาชนปลูกพืชฤดูแล้งได้เพียง 4 แสนไร่เท่านั้น ส่วนปีนี้วางแผนไว้ 8.8 แสนไร่มากกว่าปีที่แล้วเป็นเท่าตัว แต่ปัจจุบันประเมินเบื้องต้นเกษตรกรกลับเพาะปลูกมากถึง 1.2 ล้านไร่ เราเข้าใจว่าเกษตรกรพยายามเพาะปลูกเพื่อหารายได้ แต่เราก็ต้องกำหนดแผนการปล่อยน้ำและปริมาณที่เหมาะสมไว้ด้วย ไม่สามารถปล่อยน้ำให้เต็มพื้นที่ได้ เพราะมีพื้นที่นอกเหนือจากการควบคุมอยู่อีกมากเกินกว่า 3 แสนไร่ ซึ่งมีสถานีสูบน้ำไฟฟ้าที่อยู่ลำน้ำชีทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร”
“ศักดิ์ศิริ” บอกว่า กังวลเรื่องการแย่งน้ำกันอยู่บ้าง อยากให้ประชาชนคอยรับฟังเจ้าหน้าที่เป็นระยะ เพราะจำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภค เพื่อการผลิตน้ำประปาเป็นอันดับแรก ส่วนพืชเกษตรและการปลูกข้าว จะมีช่วงเวลาผลัดกันใช้ไปเป็นระยะอย่างแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปล่อยทิ้งขว้าง ถึงกระนั้นก็อยากให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด แม้ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีฝนเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีฝนทิ้งช่วงอีกก็เป็นไปได้
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat