‘ดุสิตธานี’ เมืองในอุดมคติ – ผลงานการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะภายใต้แนวคิดเรื่องการสร้างเมืองในประเทศไทยซึ่งมีวิวัฒนาการยาวนานมานับตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน
โดยการจำลองเมืองในอุดมคติที่เป็นต้นแบบสำคัญและส่งอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดคือเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้าง “ดุสิตธานี” ขึ้นมา ประดุจจังหวัดหนึ่งในสยาม ประกอบด้วยผังเมืองตามสมัยใหม่ การผสมผสานระหว่างสังคมไทยดั้งเดิมและความเป็นสากล รวมถึงเป็นจุดตั้งต้นองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
แม้ปัจจุบัน “ดุสิตธานี” ของจริงจะเหลือปรากฏเพียงหลักฐานในหน้าประวัติศาสตร์ แต่เมื่อไม่นานมานี้มีความพยายามชุบชีวิตเมืองในฝันแห่งนี้ให้กลับมาอีกครั้งภายในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผ่านผลงานศิลปะชุด “เมืองในฝัน” โดยผศ.ประทีป สุธาทองไทย จัดแสดงที่เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก ซึ่งขยายเวลาจัดงานไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. (ปิดทุกวันอังคาร) เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นำเสนองานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งปลูกสร้างในดุสิตธานีด้วยเทคนิคจิตรกรรมเหมือนจริง ควบคู่ไปกับผลงาน “บ้านน้อมเกล้า” มุมมองภาพถ่ายทางอากาศของหมู่บ้านน้อมเกล้า ใน อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร และมีการจัดงานเสวนา “BAB Talk #47: ย้อนสำรวจดุสิตธานี เมือง(จำลอง)ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21” เมื่อไม่นานนี้
ผศ.ประทีป สุธาทองไทย กล่าวว่า ผลงานชุดนี้เกิดจากการถอดแบบ อาคารตามหลักฐานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ทั้งภาพถ่ายเก่าและสิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งที่ได้รับการบูรณะรักษาไว้ เพื่อต่อยอด ถ่ายทอดเป็นผลงานให้คนในปัจจุบันได้เห็น และเป็นเครื่องมือที่อาจช่วยสร้างคุณค่าบางอย่างขึ้นมาในอนาคต แหล่งข้อมูลสำคัญคือภาพถ่ายโมเดลของดุสิตธานีในอดีตที่ตีพิมพ์ในหนังสือ และแผนที่ที่บันทึกโดยพระยาอนุชิตชาญชัย อีกทั้งยังค้นคว้าภาพถ่ายบางส่วนเพิ่มเติมที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และศึกษาเรื่องสัดส่วนจากสถานที่ต่างๆ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6 นำหลักฐานทั้งหมดมาปะติดปะต่อกันทำให้เกิดเป็นผลงานพิมพ์เขียวชุดนี้ขึ้นมา จากนั้นจึงเชื่อมโยงเรื่องราวของเมืองในฝันแห่งนี้เข้ากับการสำรวจความเป็นจริงในหมู่บ้านน้อมเกล้า จ.ยโสธร”
ด้านผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม กล่าวเสริมว่าดุสิตธานีสร้างขึ้นในยุคสมัยที่เริ่มมีความหลากหลายในด้านสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงไทยประเพณีที่ผสมผสานความเป็นตะวันตกเข้ามามากขึ้น และชีวิตของผู้คนที่เริ่มมีหลายแง่มุมและมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้น”
ขณะที่ นายเชื้อพร รังควร เลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้มุมมองว่าดุสิตธานีเป็นหน้าตาของเมืองสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นกลยุทธ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมในความเป็นจริงและนำประเทศไทยสู่ความเป็นสากล นอกจากสถาปัตยกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ดุสิตธานีสะท้อนให้เห็นคือบรรทัดฐานของสังคมและลักษณะการอยู่ร่วมกันของพลเมืองที่เป็นสากลมากขึ้น