กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดโครงการนำร่องการติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรับอุทกภัย ใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อวางระบบการติดตามและเฝ้าระวังระดับน้ำที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับความเสี่ยงและปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงบริหารจัดการเครื่องมือเครื่องจักรกลที่จำเป็นไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะโฆษก ปภ. เปิดเผยว่า อุทกภัยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะอิทธิพลจากพายุที่ทำให้มีปริมาณฝนตกมากจนน้ำเอ่อล้นลำน้ำสายหลักและสายรองเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย ดังเช่นผลกระทบจากพายุโพดุลและคาจิกิที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จึงได้จัดโครงการนำร่องการติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรับอุทกภัย ใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด เพื่อวางระบบการติดตามและเฝ้าระวังระดับน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงและปัญหาในพื้นที่ โดย ปภ. ร่วมกับจังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงสาเหตุของอุทกภัย ลำน้ำสายหลักลำน้ำสายรองที่เป็นแหล่งกำเนิดของอุทกภัย และจุดเปราะบางในแต่ละพื้นที่ พร้อมติดตั้งวัสดุอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยที่เหมาะสม เพื่อวางแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนและกำหนดผู้รับผิดชอบให้สามารถประสานแจ้งเตือนความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที
“การศึกษาเพื่อให้ทราบและติดตามต้นเหตุของการเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญมาก เราจะได้ข้อมูลที่จำเป็นมาคาดการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ประกอบกับเฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำสายหลักสายรองที่มีผลกระทบต่อการเกิดอุทกภัยในเขตชุมชนเมือง และเขตเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางต่อการเกิดอุทกภัย จะทำให้สามารถแจ้งเตือนอุทกภัยให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง นอกจากนี้ ยังทำให้การเคลื่อนย้ายเครื่องมือเครื่องจักรกลที่จำเป็นไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วที่จังหวัดยโสธร ในพื้นที่ลำเซบายซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลและจะเร่งดำเนินการใน 4 จังหวัดที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ” นายชัยณรงค์ โฆษก ปภ. กล่าว
สำหรับโครงการนำร่องการติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรับอุทกภัย กำหนดดำเนินโครงการในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี รวม 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นประจำ สร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทุกปี การดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อให้ทราบข้อมูลระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดอุทกภัย สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึง ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรทั้งเครื่องมือ เครื่องจักรกล และกำลังพล ไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือจุดที่เหมาะสมได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที รวมถึงนำข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังและติดตามอุทกภัยมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต