รายงานการศึกษา : สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สืบสาน-ส่งต่องานช่างฯ สู่เยาวรุ่น
“สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น” สังกัดกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งครบ 1 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ มี ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นผู้อำนวยการสถาบัน เพื่อรักษารากแก้วของงานช่างศิลป์ท้องถิ่น สืบสานความภาคภูมิใจในชุมชน และส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่
ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้ดำเนินโครงการ “แผนงานช่างศิลป์ท้องถิ่น” ซึ่งครอบคลุมกรอบการวิจัยใน 5 ประเด็น คือ 1.การสำรวจและวิเคราะห์จัดกลุ่มช่างศิลป์ท้องถิ่น 2.การศึกษาและจัดกลุ่มชุดความรู้จากงานศิลป์ท้องถิ่นในรูปแบบดิจิทัล 3.รูปแบบของการอนุรักษ์ ฟื้นฟูผลงานศิลป์ท้องถิ่นแขนงต่างๆ 4.แนวทางการพัฒนาผลงานศิลป์ท้องถิ่นด้วยวิทยาการเทคโนโลยี และ 5.แนวทางการส่งเสริม ถ่ายทอด สืบสานความรู้ของงานศิลป์ท้องถิ่น
ดร.สิริกร เล่าถึงการทำงานวิจัยในปีแรกว่า สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นได้รวมพลังนักวิจัย รวมพลังสถาบันอุดมศึกษาจาก 14 มหาวิทยาลัย และ 10 วิทยาลัยชุมชน กระจายครอบคลุมทุกภูมิภาค งานวิจัยครั้งนี้ ทำให้มีผลผลิตที่จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นรากแก้วให้แก่ชุมชนที่สำคัญคือ ฐานข้อมูลที่เป็นระบบ และเอกภาพ ที่ผ่านมาแม้จะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับช่างศิลป์ท้องถิ่นมาก่อน แต่มีข้อจำกัดจากการที่จัดพิมพ์ผลงานวิจัยเป็นหนังสือ เมื่อเวลาผ่านไปก็สูญหายไป ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ก็หวังว่าข้อมูลจะอยู่อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น และเป็นการเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจที่จะรับสืบทอดเป็นอาชีพที่สง่างาม ประกอบสัมมาอาชีพบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม
ในปี 2564 มีโครงการวิจัยจากสถาบันวิชาการเข้ามาร่วมงานกับสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น อาทิ โครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ท้องถิ่นชายแดนใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, โครงการสำรวจและถอดองค์ความรู้ช่างแกะสลักไม้ลวดลายมลายูและช่างทำว่าวเบอร์อามัสใน จ.ปัตตานี วิทยาลัยชุมชน (วชช.) ปัตตานี, โครงการการสำรวจและวิเคราะห์จัดกลุ่มช่างศิลป์ท้องถิ่นล้านนาตะวันออก : น่าน แพร่-อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงรายบางส่วน สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.), โครงการ “เชิงช่างงามศิลป์ ถิ่นนครลำปาง” และ “ครูช่าง สล่าศิลป์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชียงใหม่” สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นต้น
“เมื่อลงพื้นที่จริงๆ เหมือนไปเปิดก๊อก แล้วน้ำพรั่งพรูออกมา เพราะสิ่งต่างๆ ที่สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นทำนั้น ที่จริงแล้วมีชุมชน มีองค์กรหลายองค์กร ได้ทำ และอนุรักษ์ศึกษาด้วยความรักในมรดกภูมิปัญญาของชาติอยู่แล้ว สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นเพียงแค่ไปเปิดก๊อก ไปออกแรงรวบรวมผู้คนที่ล้วนรักในภูมิปัญญาท้องถิ่นมาอยู่ด้วยกัน ให้มีกำลังใจ มีพลังทำงานได้มากขึ้น เมื่องานขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันร่วม 17 จังหวัดทุกภาค ทำให้เห็นว่าการขับเคลื่อนที่จะอนุรักษ์สืบสานต่างๆ ยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญอีกสิ่งคือการส่งต่อองค์ความรู้จากอดีตให้คนรุ่นปัจจุบัน เพื่อให้เดินต่อไปในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” ดร.สิริกร กล่าว
นอกจากนี้ งานศิลป์ท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ บางประเภทกำลังสูญหาย จึงร่วมกับสถาบันส่งเสริมวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ซึ่งมีพันธกิจในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ที่ทำงานด้านองค์ความรู้ช่างศิลป์ท้องถิ่นอยู่แล้ว เวลานี้ใกล้ปิดโครงการวิจัย ได้ข้อสรุปว่ามีฐานข้อมูลชุดความรู้ท้องถิ่น 9 ประเภทที่ยังคงดำเนินการอยู่ และพบว่าบางประเภทกำลังจะสูญหายไป บางประเภทตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น ผ้าจวนตานี แทบจะหายไปแล้ว ส่วนผ้าปะลางิง ผ้าทอมือที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วยบล็อกไม้ หรือผ้าบาติค ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียทั้งสิ้น ปัจจุบันมีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ยังใช้การพิมพ์มือพิมพ์โลหะบนผืนผ้าอยู่บ้าง
ส่วน งานพุทธศิลป์ น่าน การตอบรับเกินคาด ทางภาคเหนือ ได้สำรวจ สืบค้น และต่อยอดองค์ความรู้ช่างพุทธศิลป์น่าน จนตั้งศูนย์เรียนรู้พุทธศิลป์น่านขึ้นสำเร็จ โดยทุนส่วนตัว และภูมิความรู้เชิงช่างของพระคุณเจ้าที่วัดแสงดาว ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ได้ฟื้นฟูองค์ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับลวดลายพุทธศิลป์น่าน โดยประชาคมน่าน ทั้งสงฆ์ และฆราวาส นำโดยมูลนิธิของคุณหมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร และนักวิชาการคณะวิจิตรศิลป์ มช.และยูเนสโก มาช่วยกันรวบรวมแล้วจัดหลักสูตรช่างพุทธศิลป์ 800 ชั่วโมง อบรมพระ 30 รูป
เมื่อเกิดสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ก็เข้าไปฟื้นงานที่เคยทำไว้ ซึ่งมีพระที่ยังคงสืบสานงานพุทธศิลป์อยู่ 11 รูป บางท่านสึกแล้ว แต่ยังเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น กลายเป็นวิทยากรในศูนย์เรียนรู้ช่างพุทธศิลป์น่านที่ตั้งใหม่ นำหลักสูตรที่เคยทำไว้แต่เดิมมาปัดฝุ่น วิพากษ์ใหม่กับสล่า กับชุมชน โดยปรับปรุงเป็น 600 ชั่วโมง ประกอบด้วย หลักสูตรช่างปูนปั้นแบบดั้งเดิม ช่างแกะสลักไม้ และช่างลงรักปิดทอง ขณะนี้มีผู้รอเรียนรุ่นที่ 2 ที่จะเปิดด้านจิตรกรรรม งานนี้ได้รับการตอบรับจากชุมชนคนน่านมากเกินคาด
“ผู้สนใจหลากหลาย เช่น เณรจากโรงเรียนพระปริยัติธรรม ผู้พิพากษา ครูมัธยม สุภาพสตรีที่เป็นนักธุรกิจ คนน่านคิดว่าต้องหาวิธีการให้องค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ยังอยู่ และกลับมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงอาชีพ เลี้ยงบ้านเมือง เป็นอาชีพที่สง่างาม เพราะน่านมีวัดเกือบ 500 วัด กิจกรรมงานที่เกี่ยวกับศาสนสถานมีเม็ดเงิน การจ้างงาน และความต้องการอยู่ แต่ปัญหาที่พบคือหาสล่าไม่ได้ และสล่าที่หามาได้ บางครั้งฝีมือไม่ถึงขั้น ทำให้การซ่อมแซมโบราณสถานทำแล้วไม่เหมือนเดิม” ดร.สิริกร กล่าว
ขณะที่ มศก. พัฒนางานจักสานร่วมกับ วชช.ยโสธร และ วชช.นราธิวาส ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานของ จ.นราธิวาส และ จ.ยโสธร ให้สร้างมูลค่า และรักษาคุณค่าของอัตลักษณ์งานช่างศิลป์ท้องถิ่นดั้งเดิมเอาไว้ เช่น การกำหนดสีแพนโทน ของ จ.ยโสธร ซึ่งเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ มาผนวกกับความเป็นเมืองจักสาน และเมืองพหุวัฒนธรรมแบบนราธิวาส ก็นำอัตลักษณ์ดั้งเดิมมาเติมเต็มบ่งบอกความเป็น จ.นราธิวาส ในลวดลายเสื่อกระจูด โดย ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มศก.และคณะอาจารย์ ลงชุมชนจักสานไม้ไผ่ที่ จ.ยโสธร และจักสานเสื่อกระจูด นราธิวาส โครงการนี้โชคดีที่ได้บุคลากรซึ่งมีประสบการณ์การออกแบบในระดับสากลอย่าง นักออกแบบ เจ้าของรางวัลศิลปาธร และรางวัลมากมาย
ช่างศิลป์สองชุมชนเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีทักษะฝีมือจักสานสูงมาก และยังได้พบช้างเผือกรุ่นเยาว์ทั้ง 2 จังหวัด สิ่งที่คณาจารย์จาก มศก.ทำคือ นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปเปิดให้เข้าใจวัสดุจากธรรมชาติรอบตัว ทั้งคุณค่าของสีจากธรรมชาติในพื้นที่ และลักษณะของวัสดุที่ทำงาน สร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกให้ฝีมือชั้นครู ชั้นเทพ ได้เห็นว่างานของทั้ง 2 ชุมชน ไปได้ไกลระดับโลกได้ และท้าทายงานฝีมือ ให้คิดสานในสิ่งที่ไม่เคยสาน ทำแล้วขายได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายจินตนาการ
ช่วงเวลาที่เริ่มต้นแผนงานเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ทำให้เห็นทิศทางการส่งต่อองค์ความรู้ไปยังคนรุ่นใหม่ โดยพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์ม ซึ่งขณะนี้เป็นต้นแบบ ชื่อเว็บไซต์ thaiartisan.org รวบรวมองค์ความรู้ช่างศิลป์ท้องถิ่น รวมทั้ง การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของอีเลิร์นนิ่ง หลักสูตรการวาดลวดลายไทยพื้นฐาน เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลป์หลายประเภท ได้รับเกียรติจาก อาจารย์วิชัย รักชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นผู้สอน และมีคณะครูศิลปะของโรงเรียนรุ่งอรุณนำโดย อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง เป็นที่ปรึกษา ผู้สนใจลงทะเบียนเรียนวาดลายไทยแม่บท 5 ลายได้ทุกที่ทุกเวลา จนเข้าใจบ่อเกิด ที่มา และความหมายของลายไทย สามารถฝึกคัดลายไทย และทดสอบความรู้หลังเรียน หากสนใจต่อยอดสร้างผลงานจากลายไทยก็จะทำได้
ปัญหาสำคัญที่นักวิจัยสรุปในเบื้องต้น คือมรดกความรู้ภูมิปัญญางานศิลป์ หาคนมาสืบต่อค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ผู้ที่มีความรู้เป็นครูช่าง จะเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น การถอดความรู้จากครูช่างทั้งหลายมาเพื่อถ่ายทอดต่อให้คนรุ่นต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำกันอย่างเร่งด่วน การทำแพลทฟอร์มดิจิทัลต้นแบบอย่างเว็บไซต์ thaiartisan.org น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้องค์ความรู้งานช่างศิลป์ท้องถิ่น เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ และเกิดการสืบสาน รักษา และต่อยอด ต่อไป