ประเด็นเด็ด 7 สี – มาตามกันต่อเรื่อง ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน ที่ก่อนหน้านี้ถูกงดจัดมานานกว่า 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ตอนนี้ชาวบ้านกลับมาจัดงานกันได้แล้ว จนค่ายผลิตบั้งไฟมียอดสั่งจองผลิตแทบไม่ทัน แต่ปัญหาคือยังต้องเสี่ยงกับการขาดทุน เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าบุญบั้งไฟของแต่ละจังหวัดจะถูกยกเลิกแบบกะทันหันหรือไม่ ติดตามรายงานจากคุณชนะชัย แก้วผาง
ค่ายบั้งไฟแอ๊ดเทวดา ในตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ยังคงช่วยกันเร่งผลิตบั้งไฟให้ทันกำหนดจัดงานของเจ้าภาพ หลัง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกพื้นที่งดประเพณีบุญบั้งไฟ เพราะสถานการณ์โควิด-19 กระทั่งปีนี้เพิ่งมีประกาศว่า แต่ละจังหวัดอนุญาตจัดงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
เจ้าของค่ายผลิตบั้งไฟ ยอมรับว่า ธุรกิจของพวกเขาอยู่บนความเสี่ยงขาดทุน เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ที่ค่ายลงทุนทำบั้งไฟให้ลูกค้า แต่จู่ ๆ ก็ถูกประกาศให้งดจัดงานกะทันหัน ทำให้ขาดทุนเป็นหนี้หลักแสน แม้ว่าปีนี้แต่ละพื้นที่ประกาศให้จัดงานได้ แต่พวกเขายังกังวลว่า จะขาดทุนซ้ำรอยเหมือนปีก่อน ๆ อีกหรือไม่
การทำบั้งไฟเป็นงานละเอียดทุกขั้นตอน เพราะหากผิดพลาด อาจเป็นอันตรายระหว่างการจุด นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ค่ายสามารถผลิตบั้งไฟขนาดใหญ่ อย่างบั้งไฟแสน ได้เพียงวันละมากสุดก็แค่ 5 บั้งเท่านั้น ทั้งที่ยอดสั่งจองยังตกค้างอีกกว่า 30 บั้ง
ธุรกิจการทำบั้งไฟ กำลังฟื้นตัว และสร้างงานสร้างอาชีพรายให้กับชาวบ้าน ทั้งกลุ่มเยาวชนที่มารับจ้างผลิตบั้งไฟ โดยเฉพาะช่างทำบั้งไฟ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
ยอดสั่งจองส่วนใหญ่จะเป็นบั้งไฟแสน ราคาขายไม่เกิน 18,000 บาท ต่อบั้ง หากหักลบต้นทุนที่แพงขึ้น ค่ายจะได้กำไรบั้งละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าในอดีต แต่ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ถูกยอมรับจากลูกค้าจำนวนมากว่าปลอดภัย และหวังกอบกู้ธุรกิจที่ขาดทุน ก็ทำให้ค่ายบั้งไฟแห่งนี้กล้าจะเผชิญความเสี่ยงขาดทุน โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บั้งไฟที่พวกเขาเร่งผลิตจะถูกระงับห้ามจุดอีกวันไหน