กปภ.ยโสธร ตรวจพบคลอไรด์ในแม่น้ำชีสูงผิดปกติในรอบ 42 ปี หวั่นกระทบผู้ใช้-รพ.-เตือนเด็กอ่อน ผู้ป่วยโรคไต โรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ ไม่ควรบริโภคน้ำประปาในระยะนี้
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดยโสธร (กปภ.) ตรวจพบค่าน้ำเค็มในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านจังหวัดยโสธรมีปริมาณคลอไรด์ หรือความเค็มของน้ำสูงผิดปกติ จนอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำประปา เช่น โรงพยาบาล, ผู้บริโภคน้ำประปา และผู้ป่วยบางโรค ทำให้ กปภ.ยโสธร ต้องเร่งประชาสัมพันธ์คุณภาพของน้ำประปาที่ผลิตได้ให้กับผู้ใช้น้ำได้รับทราบถึงสถานการณ์และคุณภาพของน้ำทุก 1 ชั่วโมง
นางสาววิภาวี โชควิวัฒนวนิช ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขายโสธร กล่าวว่า น้ำดิบบริเวณโรงสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค สาขายโสธร มีปริมาณคลอไรด์ อยู่ที่ 750 มิลลิกรัมต่อลิตร และน้ำประปาที่ผลิตออกมามีปริมาณคลอไรด์ 450 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานและยังมีปริมาณคลอไรด์สูงขึ้นเรื่อยๆ จากปกติมาตรฐานของคลอไรด์ในน้ำประปาต้องไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร
ซึ่งถ้าหากค่าคลอไรด์ หรือค่าความเค็มสูงถึง 900 มิลลิกรัมต่อลิตร ทางการประปาส่วนภูมิภาค สาขายโสธร มีความจำเป็นต้องกำลังการผลิตลงเพื่อรอให้มวลน้ำเค็มไหลผ่านไปก่อน และจะทำให้น้ำประปาไหลอ่อนไปทั่วพื้นที่บริการ
“จึงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้น้ำระมัดระวัง และพิจารณาการอุปโภคบริโภคน้ำประปาในระยะนี้ ซึ่งอาจจะมีกระทบต่อเด็กอ่อน ผู้ป่วยโรคไต โรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ ไม่ควรบริโภคน้ำประปาในระยะนี้ และคาดว่าค่าความเค็มของดิบในแม่น้ำชีจะอยู่ในพื้นที่ยโสธรประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงจะค่อยๆ เจือจางลง” นางสาววิภาวี กล่าว
โดยในขณะนี้ทางการประปาส่วนภูมิภาค สาขายโสธร ได้ประสานขอความร่วมมือกับเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้ช่วยปล่อยน้ำลงมาเจือจางความเค็มในแม่น้ำชีแล้วพร้อมกับได้ขอความร่วมมือให้เขื่อนยโสธรได้พร่องน้ำออกเพื่อช่วยระบายน้ำเค็มให้ไหลผ่านยโสธรไปก่อน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่งด้วย และขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาค สาขายโสธร ได้ให้นักวิทยาศาสตร์ของการประปาได้คอยตรวจสอบคุณภาพน้ำทุก 1 ชั่วโมง เพื่อคอยตรวจสอบคุณภาพน้ำในกระบวนการผลิตน้ำประปา
ส่วนสาเหตุของน้ำในแม่น้ำชีที่มีค่าความเค็มสูงผิดปกตินั้น ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขายโสธร กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ตรวจพบว่าค่าความเค็มเกิดขึ้นที่บริเวณพื้นที่ จ.มหาสารคาม ก่อนไหลลงมาผ่าน จ.ร้อยเอ็ดและมาถึงยโสธรในวันนี้ โดยคาดว่าความเค็มของน้ำที่สูงมากที่สุดน่าจะอยู่ในช่วงวันที่ 22-23 พ.ค.นี้ จากนั้นก็จะค่อยๆ เจือจางลง โดยจากสถิติแล้วจังหวัดยโสธรไม่เคยพบว่าน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปามีค่าความเค็มสูงสุดในรอบ 42 ปี
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่