“บิ๊กป้อม” ถก 6 หน่วยงาน กอนช. สั่งเร่งคลี่คลายน้ำท่วมใน 30 จังหวัด บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง กำชับเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกกักน้ำไว้ใน 10 ทุ่งให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
วันที่ 29 กันยายน 2564 เมื่อเวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำ และกล่าวมอบนโยบายในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจาก 5 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ว่า
จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 30 จังหวัด บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยปัจจุบัน 7 จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ แต่ยังคงเหลือพื้นที่ในอีก 23 จังหวัด ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยอย่างมากในการเร่งรัดบริหารจัดการน้ำให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว รวมทั้งการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มศักยภาพ
ดังนั้น ในวันนี้จึงได้มาเพื่อติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในภาพรวม แผนบริหารจัดการน้ำ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำทะเลที่อาจหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาและการเตรียมการป้องกันด้วย ซึ่งในวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยัง จ.ชัยภูมิ เพื่อติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ในพื้นที่ประสบอุทกภัยให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด โดยเน้นย้ำกรมชลประทานให้เร่งระบายน้ำโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว ขอเน้นย้ำให้ร่วมมือกันประสานงานกันให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการคาดการณ์ที่จะยังมีพายุเข้ามาอีก กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ต้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนให้ทุกหน่วยทำการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเตรียมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ การกำหนดทิศทางการระบายน้ำ ต้องไม่เกิดผลกระทบที่จะทำให้ประชาชนท้ายน้ำเดือดร้อน
ทั้งนี้ มอบหมายให้ สทนช. ประสานการปฏิบัติการคาดการณ์กับกรมอุตุฯ และ สสน. เพื่อติดตาม อำนวยการให้ทุกหน่วยทำงานได้สอดคล้องกัน มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ทั้งเรื่องการรับพายุและการช่วยเหลือประชาชน กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการระบายน้ำลงลำน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยให้พิจารณากักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้ได้มากที่สุดควบคู่กันไปด้วย ขณะเดียวกัน กรมชลประทานต้องบริหารการจัดจราจรน้ำ การชะลอน้ำเพื่อหน่วงน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรง โดยการผันน้ำเข้าไปพื้นที่ลุ่มต่ำหรือแก้มลิงต่างๆ และในส่วนปลายน้ำนั้นให้ทำการเร่งระบายออกโดยเร็ว รวมถึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัย กำกับการปฏิบัติแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งแผนการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รัดกุม
พร้อมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยโดยเร็ว และที่สำคัญทุกหน่วยงานต้องแจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบล่วงหน้าถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นลงไปถึงระดับหมู่บ้านหรือตำบล และต้องแจ้งให้ทราบถึงการปฏิบัติของหน่วยงานอย่างชัดเจนด้วย รวมถึงนำผลงานที่ปฏิบัติไปประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศ
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในหลายพื้นที่ เช่น จ.สุโขทัย จ.นครสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ระดับน้ำจะขึ้นถึงจุดสูงสุดใน 1- 2 วันนี้ โดยจะมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนการติดตามสถานการณ์ที่ลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ซึ่งมวลน้ำได้ไหลเข้าสู่แม่น้ำมูล พบว่า ปริมาณน้ำจะไหลกระจายโดยทั่วไป จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างมากนัก โดยในวันที่ 30 ก.ย.นี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.นครราชสีมา และลุ่มน้ำลำเชียงไกร และติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากน้ำท่วมเพื่อเร่งรัดให้การช่วยเหลือโดยเร่งด่วนด้วย
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งช่วยในการกักเก็บน้ำไว้เพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่ด้านท้าย ปัจจุบันมีอัตราการน้ำไหลเข้าค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องปล่อยระบายน้ำบางส่วนเพื่อรองรับมวลน้ำจากทางเหนือเพิ่ม ซึ่งการระบายน้ำจะอาศัยกลไกของโครงข่ายน้ำของเจ้าพระยาตอนล่างอออกทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใน 10 ทุ่งให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้เกิดกับประชาชนชนน้อยที่สุด
ได้มีการซักซ้อมแผนร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินงานให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และขอให้มั่นใจว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงมวลน้ำก้อนใหญ่เหมือนเช่นในปี 2554 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่ยังมีแนวโน้มที่คาดว่าอาจจะกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คือ แม่น้ำปิง เนื่องจากอาจจะมีมวลน้ำไหลเข้ามาเพิ่มอีก จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกรมชลประทานจะเร่งบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และทุกหน่วยงานจะเร่งดำเนินการตามนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว