วันอังคาร ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
ปภ.เตือนจังหวัดภาคอีสาน
น้ำชีล้นตลิ่ง
กรมชลฯชี้อุทกภัย20จว.
สั่งจุดเสี่ยงพร้อมรับมือ
9อำเภออยุธยาจมบาดาล
อ่างทองอ่วมพนังกั้นน้ำพัง
ปภ.เตือน 6 จังหวัดอีสาน เฝ้าระวังน้ำชีล้นตลิ่ง 4-15 ตุลาคมนี้ด้านกรมชลฯ เผยอุทกภัยเกิดขึ้น 20 จังหวัด สั่งพื้นที่เสี่ยงพร้อมรับมือ ส่วนมวลน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำวัง ไหลเข้า จ.ตาก แล้ว ขณะที่พนังกั้นน้ำอ่างทองพัง ท่วมแล้ว 5 หมู่บ้าน ขณะที่เขื่อนพระรามหกอ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงเร่งระบายน้ำ ทำให้ท้ายเขื่อนระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้นกว่า 1 เมตร น้ำทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ด้านผู้ว่าฯ กทม.เช็คน้ำเหนือ ยันเมืองกรุงไม่กระทบแต่ยังต้องเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่าได้ประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนล่าง พื้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม พบว่าเขื่อนมหาสารคามมีระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 0.78 เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมหาสารคาม 580 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.5-2 เมตร จะล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในช่วงวันที่ 4-15 ตุลาคม 2564
ปภ.เตือน6จังหวัดอีสานรับมือน้ำ
ทั้งนี้ ปภ.ได้แจ้งเตือน6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และศรีสะเกษ ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำชี จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
อุตุฯเตือน5-13ต.ค.ไทยมีฝนเพิ่ม
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กกรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์ภาพกราฟฟิกแสดงการพยากรณ์ฝนรวมทุกๆ 24 ชั่วโมง 10 วันล่วงหน้า (4-13 ตุลาคม 2564) ระบุว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กลับมาพัดปกคลุมแต่มีกำลังอ่อน ทำให้ประเทศไทยยังมีฝนเกิดขึ้นได้บางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 5-13 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีฝนหนักบางแห่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวม กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก เนื่องจากมรสุมพาดผ่าน ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีมวลอากาศเย็นปกคลุม ฝนตกน้อยลงบ้าง
ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะแรงขึ้นเป็นพายุ และจะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางเกาะไหหลำ ประเทศจีน หากมีแนวโน้มแรงเป็นพายุในเขตรับผิดชอบ กรมอุตุฯ จะออกประกาศเตือนภัย จึงขอให้อย่าตื่นตระหนก และขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมอุตุฯ เป็นระยะๆ ต่อไป
ชลประทานชี้ฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน แถลงถึงสถานการณ์น้ำ ว่าจากปริมาณฝนที่ตกในปัจจุบัน มีปริมาณฝนทั้งประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% โดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1% จากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ ซึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่ตกท้ายเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลให้น้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันเพียง 12,832 ล้าน ลบ.ม.มีน้ำใช้การได้ 6,136 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสัก เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องระบายน้ำเพื่อลดปริมาณที่เกินระดับเก็บกักของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ปัจจุบันระบายสู่ท้ายเขื่อนในอัตรา 1,133 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง จึงบริหารจัดการน้ำโดยผันน้ำบางส่วนออกคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองบางขนาก และคลองพระองค์ไชยานุชิต สูบน้ำออกแม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทย ลดผลกระทบต่อ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
ใช้เขื่อนเจ้าพระยาคุมปริมาณน้ำ
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ใช้เขื่อนเจ้าพระยาควบคุมปริมาณน้ำและรับน้ำเข้าคลองสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้ทุ่งรับน้ำบริเวณตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยา 10 ทุ่ง รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ช่วยลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง รวมไปถึงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย มีการรับน้ำเข้าทุ่งแล้วรวม 878 ล้าน ลบ.ม.คงเหลือพื้นที่ที่สามารถเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 590 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่พื้นที่ตอนล่าง ได้ใช้โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ช่วยบรรเทาอุทกภัยในกทม.และปริมณฑล
เผยสถานการณ์อุทกภัยรวม20จว.
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 20 จังหวัด 87 อำเภอ อาทิ จ.สุโขทัย ได้แก่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.ศรีสำโรง อ.บ้านด่านลานหอย อ.ศรีสัชนาลัย อ.เมือง อ.คีรีมาศ และ อ.สวรรคโลก , นครราชสีมา 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.เมือง และ อ.โนนไทย , ลพบุรี 1 อำเภอ คือ อ.บ้านหมี่ , อุบลราชธานี 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ และ อ.ตระการพืชผล และชัยภูมิ 16 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 157,211 ไร่ ซึ่งมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร ใหสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที โดยบูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มวลน้ำแม่น้ำวังเข้าพื้นที่จ.ตาก
ด้านนายประเสริฐ สันบุญเป็ง นายอำเภอแม่พริก จ.ลำปาง เปิดเผยว่า หลังจากเกิดฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมฉับพลันใน อ.สบปราบ และ อ.เถิน ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนติดกับ อ.แม่พริก จ.ลำปาง มวลน้ำก้อนใหญ่จากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากได้ไหลมาสมทบในแม่น้ำวัง ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอ.แม่พริก จ.ลำปาง พื้นที่ใต้สุดของ จ.ลำปาง ติดกับ จ.ตาก มีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ได้ไหลไปยังพื้นที่ อ.สามเงา จ.ตาก แล้ว ก่อนจะไหลเข้าสู่เขื่อนภูมิพล ต่อไป
น้ำล้นอ่างฯเข้าท่วมอ.แม่พริก
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำแม่พริก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าอ่างผาวิ่งชู้ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ในเขต อ.แม่พริก ที่ปริมาณน้ำเต็มความจุ 36 ล้าน ลบ.ม.เกิดเอ่อล้น ส่งผลให้มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรใน อ.แม่พริก แต่เนื่องจากปริมาณน้ำไม่มากนักจึงส่งผลกระทบไม่มากนัก ทางเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ได้มีการเข้าช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว พร้อมกับติดตามเฝ้าระวังหากเกิดฝนตกหนักขึ้นอีกในระยะนี้ ตามประกาศแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักอีก
น้ำท่วมทะลักพนังกั้นที่อ่างทอง
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ลอดใต้พนังกั้นเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 3 ต.จระเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง ว่าน้ำได้ท่วมขยายวงกว้างไป 5 หมู่บ้าน ตั้งแต่หมู่ 2-6 มีชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้วกว่า 300 ครัวเรือน โดย นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.อ่างทอง ได้ประสานกรมโยธาธิการ เข้าแก้ปัญหาพนังกั้นน้ำที่พังเสียหายกว่า 20 เมตร จนน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร รวมทั้งประสานภาคเอกชนนำบิ๊กแบ็กมาอุดในจุดที่น้ำล้น แต่น้ำได้ล้นเข้าท่วมทางหลวงชนบทอ่างทอง ก่อนเข้าสู่คลองชลประทาน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีประชาชนบางส่วนที่มีบ้านชั้นเดียว ได้ขนย้ายสิ่งของมาไว้ที่ริมถนนทางหลวงชนบท ส่วนชาวบ้านที่มีชั้นสอง ได้ยกของขึ้น และเร่งเก็บทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งนำรถออกมาจอดริมถนนด้วย ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่าน จ.อ่างทอง พบว่ายังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่หน้าศาลากลาง จ.อ่างทอง สถานี C.7A มีระดับน้ำสูง 9.29 เมตร จากระดับตลิ่งที่มีพังกั้นน้ำ 10 เมตร มีกระแสน้ำไหลผ่าน 2,555 ลบ.ม./วินาที
เขื่อนพระรามหกอ่วมน้ำป่าสักเพิ่ม
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำในฝั่งแม่ป่าสัก ว่ายังเพิ่มระดับต่อเนื่อง โดยที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงเร่งระบายน้ำที่ 934 ลบ.ม./วินาที ทำให้ท้ายเขื่อนระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้นกว่า 1 เมตร ก่อนที่น้ำจะเข้าท่วมวัดสะตือ อ.ท่าเรือ สูงกว่า 80 เซนติเมตร โดยวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก รับน้ำจากเขื่อนดังกล่าว จึงทำให้ศาสนสถาน วิหาร โบสถ์ เมรุ ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ทางวัดจึงปิดการเข้าไหว้พระตั้งแต่วันเดียวกันนี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งยังเข้าท่วมชุมชนริมแม่น้ำที่อยู่นอกเขตชลประทาน 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางบาล อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.บางปะหัน อ.นครหลวง และ อ.ท่าเรือ รวม 107 ตำบล 579 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 20,000 หลังคาเรือน
ผู้ว่าฯกทม.เช็กน้ำไหลสู่เจ้าพระยา
อีกด้านหนึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ว่ากรมชลประทาน ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกรุงเทพมหานคร เฉลี่ย 3,091 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 1.72 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม.ประมาณ 1.28 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบ
สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +1.06 (ระดับวิกฤติ +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ เขตมีนบุรี อยู่ในระดับปกติ +0.73 (ระดับวิกฤติ +0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.16 (ระดับวิกฤติ +0.60) โดยฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 19.02น.ที่ระดับ +1.13 ม.รทก.
กทม.มีฝนตกปานกลางถึงหนัก
ขณะที่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร มีฝนตกปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่จุดประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา 61.5มม. คลองภาษีเจริญ-ราชมนตรี เขตบางแค 59มม. ประตูระบายน้ำคลองบัว-ทางรถไฟ เขตตลิ่งชัน 56.5มม. สำนักงานเขตภาษีเจริญ 56มม. สำนักงานเขตคลองสามวา 44.5มม. ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ 42มม.ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก อย่างไรก็โ ช่วงวันที่ 1-5 ตุลาคมนี้ ขอให้ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ใน 7 เขต เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
บิ๊กตู่เผยเตรียมรับมือพายุลูกใหม่
ที่ โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ถนนลาดพร้าว กทม.วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมรับมือพายุในวันที่ 8-9 ตุลาคมนี้ว่าต้องเตรียมการรับมือ ซึ่งการรับมือเราคงไปเลื่อนฝนหรืออะไรไม่ได้อยู่แล้ว สถานการณ์ขณะนี้เราได้เตรียมการรับไว้ได้มากพอสมควร แต่ถ้าปริมาณมันมากกว่าปกติ มันก็รับมือได้ระดับหนึ่ง ก็ต้องมีความเสียหาย แต่จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด ใช้เวลาท่วมให้น้อยที่สุด และเร่งการดูแลเยียวยา ตนคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ และมีหลายท่านที่ไม่ค่อยเข้าใจ
บิ๊กป้อมเผยลงพื้นที่จ.สระแก้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่กำลังจะไหลไปทางจ.สระแก้วว่า ตนกำลังจะไปดู ซึ่งจะดูในหลายๆอย่าง เมื่อถามว่าเป็นจุดที่มีความกังวลด้วยใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตอนนี้ก็ถือว่าหลายจุดดีขึ้น สถานการณ์น้ำดีขึ้นแล้ว