พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 11 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2565
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 30/2565
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 11-14 มี.ค. 65 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลม/ ใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 มี. ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ที่เข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมทั้งอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คำเตือน ในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 11-14 มี.ค. 65 อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 มี. ค. 65 อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้มีอากาศร้อนอบอ้าวในตอนกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยเฉพาะชาวสวนไม้ผลควรสำรวจดูแลการค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยอ่อนในพืชตระกูลแตง กะหล่ำ และผักกาด เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 11-14 มี.ค. 65 อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค. 65 อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคและกระบือไม่ควรปล่อยให้อยู่ในที่โล่งแจ้ง ในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะสัตว์เลี้ยงอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้ นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนเจาะลำต้นและเจาะฝักในข้าวโพด เป็นต้น
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 11-14 มี.ค. 65 อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 15-17 มี. ค. 65 อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- ระยะนี้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง จากสภาพอากาศในช่วงนี้เกษตรกรที่ปลูกพริก ควรระวังศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยไฟ โดยศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนและดอก ทำให้ใบหรือยอดอ่อนหงิกงอ หากระบาดรุนแรง พืชจะชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายในที่สุด
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ในช่วงวันที่ 11-14 มี.ค. 65 อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค. 65 อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.
- ระยะนี้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยในช่วงวันที่ 15-17 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและเตรียมการป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับชาวสวนไม้ผลควรสำรวจดูแลการค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลให้แข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะอาจทำให้ปลาน็อคน้ำตายได้ โดยหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 11-12 มี.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13-17 มี.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 11-12 มี.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 13-17 มี.ค. 65 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.
- ในช่วงวันที่ 13-17 มี.ค. การกระจายของฝนจะมีเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ลักษณะอากาศในรอบ 7 วันที่ผ่านมา
ระหว่างวันที่ 4-10 มีนาคม 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในเกือบตลอดช่วง โดยมีบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าวในวันที่ 7-9 มี.ค. ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าเกือบตลอดช่วง ส่วนในตอนกลางวันบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือในวันที่ 5-6 มี.ค. นอกจากนี้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกและปลายช่วงทำให้มีฝนส่วนมากทางภาคกลางและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียในวันที่ 5-7 มี.ค. ทำให้ภาคใต้มีฝนตกตลอดช่วง
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นในตอนเช้าส่วนมากบริเวณตอนของภาคเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณอ.อุ้มผาง จ.ตาก ในวันที่ 6,7 และ 9 มี.ค. ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันที่ 5-6 มี.ค. โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในวันที่ 7 มี.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 6-7 มี.ค. โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 5-6 มี.ค. จังหวัดพิจิตรในวันที่ 6 มี.ค. จังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 6-7 มี.ค. จังหวัดเชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พะเยาในวันที่ 7 มี.ค. และจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวัน ที่ 10 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นในตอนเช้าเกือบทั่วไปในระยะต้นและปลายช่วง ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกและวันสุดท้ายของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 5,6 และ 10 มี.ค. โดยเฉพาะในวันที่ 7 มี.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุรินทร์และชัยภูมิในวันที่ 5 มี.ค. จังหวัดสกลนครในวันที่ 6 มี.ค. และจังหวัดอุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร มหาสารคาม อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา หนองบัวลำภู เลย และหนองคายในวันที่ 7 มี.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเลยในวันที่ 7 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป เว้นแต่ในวันที่ 8 มี.ค.มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยเฉพาะวันที่ 7 มี.ค.มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 6-7 มี.ค. โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอ่างทองและสิงห์บุรีในวันที่ 7 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทางตอนบนของภาคเกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 7 มี.ค. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครนายกในวันที่ 7 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 20-45 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 8 มี.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 6 และ 8 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 7, 9 และ 10 มี.ค. มีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วงและวันที่ 9 มี.ค.
ช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเลย ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา