“ปภ.”เผยพายุไซโคลน “ยาอาส” ถล่ม 18 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย บ้านเรือนเสียหาย 266 หลัง ขณะที่”กรมอุตุฯ”แจงไซโคลนยาอาสอ่อนกำลัง แต่ 4 จังหวัดใต้อย่าวางใจ ยังมีฝนกระหน่ำ-คลื่นสูง 4 เมตร
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.64 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 24-26 พ.ค.64 เวลา 06.00 น. มีพื้นที่เกิดวาตภัย น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ 18 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครพนม อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สระบุรี จันทบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา และนครศรีธรรมราช รวม 37 อำเภอ 65 ตำบล 120 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 266 หลัง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (นครราชสีมา) ส่วนในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมา เกิดวาตภัยในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย1 หลัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยสำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้างหรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสมท้ายนี้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และ สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากสถานการณ์พายุไซโคลน “ยาอาส” (YAAS) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ส่งผลให้มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนัก
ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุไซโคลนยาอาส (YAAS) ฉบับที่ 12 ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 พายุไซโคลนยาอาส บริเวณรัฐกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว หรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 22.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 85.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่าจะอ่อนกำลังลงหย่อมความกดอากาศต่ำในระยะต่อไป
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดการเดินเรือ ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง