“พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ไลฟ์ชี้แจงสาเหตุที่ไม่ได้ขุดบ่อบาดาลลึก เพราะกลัวเจอนรก ชี้ ในโลกมีคนเก่งเยอะ แต่ขาดคนที่พยายามจะเข้าใจคนอื่น
วันที่ 3 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านใน ต.ดู่ลาด อ.ทรายมูล จ.ยโสธร ของ น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ “พิมรี่พาย” แม่ค้าขายของออนไลน์คนดัง ซึ่งใช้เงินส่วนตัวประมาณ 1.9 แสนบาท โดยนายศักดิ์ดา ระบุว่า บ่อบ้ำบาดาลของพิมรี่พาย ดูแล้วอาจไม่ได้มาตรฐาน ชาวบ้านใช้ได้เพียง 1-2 ครัวเรือนเท่านั้น ตัวบ่อบาดาลก็มีขนาดเล็กกว่าของกรมฯ และหน่วยราชการหลายสิบเท่า ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
- กรมน้ำบาดาล ชี้ บ่อน้ำ “พิมรี่พาย” อาจไม่ได้มาตรฐาน ช่วยได้แค่ 1-2 ครัวเรือน
-
รู้จัก “พิมรี่พาย” ยูทูบเบอร์ปากร้าย นางฟ้าคนยาก คนสร้างภาพ?
ล่าสุด มติชน รายงานว่า พิมรี่พาย ได้ตอบกลับผ่านไลฟ์ในเพจของตัวเอง โดยตอนหนึ่งกล่าวว่า ผู้ใหญ่ท่านใดที่ยังมีข้อครหากับเด็กอยู่ พิมขออนุญาตชี้นำนะคะ เนื่องจากพิมเป็นจุดที่พูดได้ พิมว่าไม่ต้องพูดอะไรแล้ว ทำให้เด็กมันเห็นดีกว่า เพราะยิ่งพูดไป เด็กมันยิ่งขำเอาเปล่า ๆ
“ส่วนบ่อบาดาลที่พิมไม่ได้ขุดไปลึก เพราะพิมกลัวเจอนรกค่ะ ทุกวันนี้โลกมีแต่คนเก่งเยอะขึ้นทุกวัน ๆ เบียดเสียดกันเยอะมาก จนไม่มีที่ให้คนโง่ยืนเลย แต่โลกนี้ยังขาดคือ คนที่พยายามจะเข้าใจคนอื่น ยังขาดอยู่เยอะเลย” พิมรี่พายกล่าวและว่า
“ไม่ต้องห่วงนะ ว่าพิมจะหยุดทำ เซฟพิมรี่พาย กลัวว่าพิมจะโดนโน้นนี่นั้น พิมว่าไม่ต้องเซฟพิมหรอก เพราะพิมไม่ต้องการกำลังใจ เพราะกำลังใจมันได้มามันก็จอมปลอม วันใดที่พิมทำผิดเขาก็ถอดกำลังใจออกไป พิมว่าพิมขอยืนหยัดในสิ่งที่พิมต้องการจะทำ โดยขอคิดหน้าคิดหลังให้ดีว่า ที่ตัวเองทำไปมันมีผลกระทบต่อใครบ้าง
เช่น การขุดบ่อน้ำบาดาล พิมก็ดูแล้วว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบกับใคร เพราะว่าใช้โซล่าเซลล์ ไม่ได้เปลืองค่าไฟ ทำทิ้งไว้ถ้าเขาจะใช้ก็ยินดี หรือถ้าเขาไม่ใช่ หรือได้อะไรที่ดีกว่า ก็ไม่เป็นไร สามารถเลือกใช้อันใหม่ที่ดีกว่าได้เลย หรือแม้การติดหลอดไฟพลังงานแสงอาทิตย์ที่คลองเตยก็ถ้าเขาย้ายที่อยู่ก็ไม่ต้องเอา ถ้าใครจะเอาไปก็ถอดไป”
สถานการณ์น้ำปีนี้
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตภัยแล้งหนัก เนื่องจากปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปี 2563 มีค่าน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (2562-2563) ทำให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร
ดร.รอยล กล่าวด้วยว่า ปัญหาการบริหารน้ำของประเทศไทยคือ มุ่งที่โครงสร้างขนาดใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบนั่นคือ ป่าต้นน้ำ และโครงสร้างขนาดเล็กที่กระจายเชื่อมต่อกันเพื่อระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ไทยมีข้อมูลมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยส่วนใหญ่มาจากกว่าภาคเกษตร ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร
สถิติคนในเมืองใช้น้ำ 200 ลิตร/คน/วัน คนชนบทใช้น้ำ 80 ลิตร/คน/วัน อีกทั้ง ยังไม่มีการวางแผนเตรียมรองรับกับการท่องเที่ยว ที่มีการใช้น้ำสูงถึง 1,000 ลิตร/คน/วัน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้น้ำสูงกว่าแผน แนวโน้มอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการน้ำทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้น 25% ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและประชาชนในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ
“สถานการณ์ฝนในปี 2564 จะคล้ายคลึงกับปี 2539 ที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 4 ลูก พัดผ่านภาคอีสาน 2 ลูก ภาคใต้อีก 2 ลูก แต่ไม่ได้หนักเหมือนมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนของไทยแนวโน้มมีมากขึ้น แต่มีความแปรปรวนสูงขึ้น การเปลี่ยนจากฝนมากเป็นน้อยใช้เวลาสั้นลง รูปแบบเปลี่ยนไปจะตกหนักในช่วงสั้น ๆ แล้วหายไปนานจึงกลับมาตกหนักอีก ทั้งยังเปลี่ยนพื้นที่ไปตกท้ายเขื่อนแทนเหนือเขื่อน” ดร.รอยลกล่าว และว่า
การบริหารน้ำระบบเดิมเรามองแค่น้ำต้นทุน ไม่ได้มองความต้องการใช้น้ำ เพิ่งทำข้อมูลใช้น้ำในปี 2558 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับปริมาณน้ำในเขื่อน รวมทั้งความแปรปรวนของฝนที่สูงขึ้น ทำให้ยากต่อการบริหารไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้ง”
- สสน.ชี้สัญญาณอันตรายวิกฤตน้ำปี 2564 ภัยแล้งหนัก-น้ำเค็มรุก