25 มีนาคม 2564
| โดย พันธุ์เมธา
172
งานแสดงภาพเขียนหรืองานศิลปะ โดยทั่วไปจะมีศิลปินอธิบายถึงความเป็นมาของผลงาน หากนิทรรศการ “ดุสิตธานี และ บ้านน้อมเกล้า” ต้องอาศัยการพูดคุย การตีความ และใช้จินตนาการถึง “เมืองต้นแบบประชาธิปไตย”
และยิ่งต้องฟังเสวนาจากศิลปินและนักวิชาการใน BAB Talk #47: ย้อนสำรวจดุสิตธานี เมือง (จำลอง) ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในงานเปิดนิทรรศการ ดุสิตธานี และ บ้านน้อมเกล้า เพื่อสร้างความกระจ่างในการชมงานแสดงภาพเขียนและพิมพ์เขียวของดุสิตธานี ของศิลปิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่การชมนิทรรศการเรื่องราวของเมืองในฝันเข้ากับการสำรวจความเป็นจริง ผ่านมุมมองภาพถ่ายทางอากาศของ หมู่บ้านน้อมเกล้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร หมู่บ้านที่เกิดขึ้นจริงเมื่อปี พ.ศ.2523
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย กับผลงาน “ดุสิตธานี และ บ้านน้อมเกล้า”
ดุสิตธานี และ บ้านน้อมเกล้า คือหนึ่งในไฮไลท์ของงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale 2020) ภายใต้แนวคิด ศิลป์สร้าง ทางสุข (Escape Routes) ที่ได้ขยายเวลาจัดงานที่ The Prelude One Bangkok ให้แวะเวียนไปเสพงานศิลป์กันได้ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564
ผลงานของ อ.ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินเจ้าของผลงาน ดุสิตธานี และ บ้านน้อมเกล้า ได้เนรมิตพิมพ์เขียวของ ดุสิตธานี ขึ้นมาใหม่ พร้อมเชื่อมโยงเรื่องราวของเมืองในฝันแห่งนี้เข้ากับการสำรวจความเป็นจริง จากภาพทางอากาศของหมู่บ้านน้อมเกล้า
อ.ประทีป เผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า
“เกิดจากความสนใจในเรื่องของดุสิตธานีที่พบในหนังสือประวัติศาสตร์ ประกอบกับความชื่นชอบในด้านการวาดรูป จากนั้นจึงค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมกับพยายามหาจุดเชื่อมโยงกับปัจจุบัน และหาทางนำเสนอออกมาในรูปแบบที่สามารถต่อยอดคุณค่าของดุสิตธานีได้ในหลายมิติ
ภาพพิมพ์เขียว “แผนที่จังหวัดดุสิตธานี”
ผลงานชุดนี้เกิดจาก การถอดแบบอาคารตามหลักฐานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ทั้งภาพถ่ายเก่าและสิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งที่ได้รับการบูรณะรักษาไว้ เพื่อต่อยอด ถ่ายทอดเป็นผลงานให้คนในปัจจุบันได้เห็น และเป็นเครื่องมือที่อาจช่วยสร้างคุณค่าบางอย่างขึ้นมาได้ในอนาคต โดยแหล่งข้อมูลสำคัญคือภาพถ่ายโมเดลของดุสิตธานีในอดีตที่ตีพิมพ์ในหนังสือ และแผนที่ที่บันทึกโดยพระยาอนุชิตชาญชัย อีกทั้งยังได้ไปค้นคว้าภาพถ่ายบางส่วนเพิ่มเติมที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และศึกษาเรื่องสัดส่วนจากสถานที่ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6 แล้วนำหลักฐานทั้งหมดมาปะติดปะต่อกันเลยทำให้เกิดเป็นผลงานพิมพ์เขียวชุดนี้ขึ้นมา จากนั้นจึง เชื่อมโยงเรื่องราวของเมืองในฝันแห่งนี้เข้ากับการสำรวจความเป็นจริง ในหมู่บ้านน้อมเกล้า จังหวัดยโสธร
ภาพหมู่บ้านน้อมเกล้า หมู่บ้านจริงที่ฉายรูปผ่านเครื่องโปรเจคเตอร์ลงสู่พื้น
ภาพเขียน “ดุสิตธานี”
โปรเจคนี้ตั้งแต่คิดและลงมือทำใช้เวลาร่วม 2 ปี ภายใต้แนวคิดเรื่องการสร้างเมืองในประเทศไทย ที่มีวิวัฒนาการยาวนานมานับตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน โดยการจำลองเมืองในอุดมคติที่เป็นต้นแบบสำคัญ และส่งอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดคือเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้สร้าง “ดุสิตธานี” ขึ้นมา ประดุจจังหวัดหนึ่งในสยาม ซึ่งประกอบด้วยผังเมืองตามสมัยใหม่ การผสมผสานระหว่างสังคมไทยดั้งเดิมและความเป็นสากล รวมถึงเป็นจุดตั้งต้นขององค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย”
แม้ปัจจุบัน “ดุสิตธานี” ของจริงจะเหลือปรากฏเพียงหลักฐานในหน้าประวัติศาสตร์ แต่จากงานแสดงภาพเขียนและภาพถ่ายทางอากาศ จึงดูเหมือนการ “ชุบชีวิต” ให้ “เมืองในฝัน” ขึ้นมาโดยนำเสนองานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งปลูกสร้างในดุสิตธานี ด้วยเทคนิคจิตรกรรมเหมือนจริง โดยจัดแสดงควบคู่ไปกับ บ้านน้อมเกล้า อ.ประทีป เสริมว่า
“ผมได้เข้าไปคุยกับชาวบ้านจริง ๆ จากจุดที่เขาออกจากป่า เขาถอยออกมาอย่างเป็นกระบวนทำให้เขามีอำนาจต่อรอง (ในสมัยนั้น) เหมือนเป็นส่วนที่หยุดจากแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ตรงนี้มีประเด็นให้คนมามองงานได้ จุดที่ทำออกมาแล้วมีการพูดคุย ตั้งคำถามได้ และผมก็ได้เจอกับวิทยากรที่ให้แง่มุมต่าง ๆ ด้วย ซึ่งลักษณะของหมู่บ้านน้อมเกล้าไม่ได้มีที่เดียวหากกระจายตัวอยู่หลายจุดทั่วภาคอีสาน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรศรี โพวาทอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรศรี โพวาทอง นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า
“ข้อสังเกตในเชิงสถาปัตยกรรม ผมค่อนข้างคุ้นกับหนังสือ ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตย ผ่านสิ่งพิมพ์ของ มล.ปิ่น และคณะ ซึ่งเห็นความทรงจำของดุสิตธานี ที่เป็นขาวดำ และเป็นเท็กซ์ที่อ่านยาก และเป็นรูปของโมเดล แต่ อ.ประทีป ทำให้มันชัดขึ้น จริงไม่จริงอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันดูชัดขึ้นอย่างน่าขนลุก ความที่มันเป็นสี และที่พื้นฉายโปรเจคชั่นหมู่บ้านน้อมเกล้า มันดูคนละเรื่องแต่มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมันทำให้เกิดความรู้สึก.. อ.ประทีป สามารถทำให้ภาพเหล่านี้ให้ประจักษ์ชัดได้อย่างชัดเจนมาก ทั้งยังนำสองเมืองในประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวแทนระหว่างเมืองในอุดมคติกับเมืองในความเป็นจริงมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งช่วยกระตุ้นความคิดได้ในหลายแง่มุม
ในมุมของสถาปัตยกรรม ดุสิตธานีสร้างขึ้นในยุคสมัยที่เริ่มมีความหลากหลายในด้านสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงไทยประเพณีที่มีการผสมผสานความเป็นตะวันตกเข้ามามากขึ้น และชีวิตของผู้คนที่เริ่มมีหลายแง่มุม และมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้น”
เชื้อพร รังควร เลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
อีกหนึ่งมุมมองจาก เลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชื้อพร รังควร ให้ทัศนะว่า
“ดุสิตธานี เป็นหน้าตาของเมืองสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นกลยุทธ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมในความเป็นจริงและนำประเทศไทยสู่ความเป็นสากล นอกจากเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ดุสิตธานีสะท้อนให้เห็นคือบรรทัดฐานของสังคมและลักษณะการอยู่ร่วมกันของพลเมืองที่เป็นสากลมากขึ้น ดุสิตธานีกำหนดมาตรฐานของเมืองในอนาคตว่าต้องควรต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง อาทิ ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น การออกสิทธิ์ออกเสียงของชุมชน การจัดแบ่งโซน ระบบการเสียภาษีเพื่อส่วนกลาง หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองผ่านหนังสือพิมพ์ และกิจกรรมการประกวดเคหะสถานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือฝึกให้สังคมอยู่ด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนกระบวนการเหล่านี้ล้วนถูกนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างในเวลาต่อมา”
งานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งก่อสร้างในจังหวัดดุสิตธานี ภาพนี้เป็น “สำนักงานดุสิตสมิต”
จากภาพพิมพ์เขียวเมืองจำลองดุสิตธานี ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น เลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6 กล่าวเสริมว่า
“เมื่อดูจากภาพจำลองแล้วพบว่า จริง ๆ ในที่สุดแล้วคำตอบเรื่องประชาธิปไตยก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าหลังจากที่พยายามจะทำคือสร้างเรื่องการปกครองให้แต่ละชุมชนดูแลตัวเอง เป็นการสร้างมาตรฐานของชุมชนว่าน่าจะมีประมาณนี้นะ ในชุมชนมีข้าราชการทำงาน มีวัด มีอยู่โซนหนึ่งที่เป็นโรงละคร โรงมหรสพ มีศูนย์การค้า เหมือนเมืองนอก โซนที่พักอาศัยโซนหนึ่ง โซนทำธุรกรรมก็อีกโซนหนึ่ง พยายามจัดผังเมืองให้เป็นตัวอย่าง ต้องใช้บริบทอันนี้ไปตัดสินไม่ได้ เพราะเป็นเมืองในพระนคร ส่วนต่างจังหวัดก็เรียงกันไปตามขอบแม่น้ำ อันนี้เป็นชุมชนส่วนใหญ่
งานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งก่อสร้างของ “บ้านแบบดุสิตนิยม”
เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 เราจำเป็นต้องขีดขอบรั้วประเทศไทยให้ชัดเจน และทำรถไฟเหนือจรดใต้ว่านี่คือสยามประเทศ พอถึงรัชกาลที่ 6 ท่านก็พยายามทำ ด้วยว่าท่านไปเรียนเมืองนอก ไปทางมหาสมุทรอินเดียแล้วกลับทางแปซิฟิค ก็เห็นทั่ว และญี่ปุ่นคือแพทเทิร์นที่ดี มีรถไฟจากเหนือจรดใต้คือแหล่งที่ขนส่ง ท่านบอกว่าไทยเป็นประเทศกสิกรรม การขนส่ง การจัดการน้ำสำคัญ ถนนคือตัวเชื่อม ดังนั้นเมืองต่าง ๆ จะค่อย ๆ กระจายไม่กระจุกอยู่เฉพาะพระนคร ท่านพยายามคิดอย่างนั้น จนถึงวันนี้ โครงการพัฒนาชุมชน ที่ตั้งมา 50 ปี ท่านเซตอัพว่าชุมชนน่าจะเป็นประมาณนี้นะ ซึ่งใช้เวลานานมาก
นิทรรศการ “ดุสิตธานี และ บ้านน้อมเกล้า”
สิ่งที่บอกคือบรรทัดฐานใหม่ของสังคม เพราะในยุคล่าเมืองขึ้นฝรั่งเขามองเราว่าไม่เจริญ เราจึงต้องจัดภาพใหม่ให้เราดูน่านับถือ ทุกอย่างเป็นจิ๊กซอว์ อันนี้ก็เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ทำ แต่ประเด็นคือใครจะเข้าใจ เพราะท่านเป็นคนเดียวที่นั่งเรือไปถึงอังกฤษแล้วไปเจออันเดอร์กราวด์ เขามีแล้ว คนไทยเรายังนั่งช้างลงเรืออยู่เลย มันก็ยากนะ ถามว่าสมาชิกในนี้คืออะไร ต้องอย่าลืมว่าในบริบทที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย ในนี้ประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ข้าราชการที่ใกล้ชิดที่ได้เล่นมากหน่อยคือ “มหาดไทย” คือคนที่จะไปกระจายความคิดนี้ต่อ อันนี้คือทดลอง เรื่องจริงที่ท่านทำคือเรื่อง “เสือป่า” ที่ท่านเริ่มทำสโมสรและอีกหลาย ๆ เรื่อง ที่เป็นบริบทของการสร้างบรรทัดฐานของสังคมยุคใหม่ที่เป็นส่วนรวมมากขึ้น”
งานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งก่อสร้างของ “พระตำหนักเฟอรายานี”
นอกเหนือจากผลงาน ดุสิตธานี และ บ้านน้อมเกล้า แล้ว ภายใน เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก ยังจัดแสดงผลงาน 4th Infinite Growth #1 & #2, 2020 และ Sappaya Sapha Sathan, 2020 โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น ยูเกน เทรูยะ ซึ่งเป็นการจำลองอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จากมุมสูงโดยใช้เงินในเกมเศรษฐี (Monopoly) เป็นวัสดุ แฝงนัยยะถึงการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสกุลเงินทั้งแบบสมมติและของจริง และมูลค่าของเงินนั้นที่ผันผวนขึ้นลงโดยขึ้นอยู่กับอิทธิพลภายนอก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาดใหญ่ แรงเสียดทานทางการเมือง และสงครามการค้า
เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale 2020) ที่ เดอะ พรีลูด ประกาศขยายเวลาจัดงาน ชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 ผู้สนใจเข้าชมได้ในเวลา 10.00 – 20.00 น. ชมฟรีไม่เสีย(ปิดทุกวันอังคาร)