ครอบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของ “หมอกระต่าย” จากเหตุถูกตำรวจขับรถบิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลาย ทุก ๆ วันที่ 21 ม.ค. รัฐบาลประกาศให้เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ขณะที่พ่อของหมอกระต่าย ไปร่วมพิธีรำลึกถึงลูกสาว และยอมรับว่ายังทำใจไม่ได้
วันนี้ (21 ม.ค.2566) นพ.อนิรุทธ์ และนางรัชนี สุภวัตรจริยากุล พ่อกับแม่ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย กล่าวบทความในงานรำลึก 1 ปี หมอกระต่าย สู่วันความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย
ปีใหม่ปีนี้เป็นปีกระต่าย ทุกบ้านสวัสดีปีใหม่ปีกระต่าย แต่บ้านเราไม่มีกระต่ายแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถจะบรรยายออกมาได้หมด
พ่อหมอกระต่าย เปิดเผยด้วยเสียงสั่นเครือว่า ผ่านมา 1 ปีแล้ว ยังทำใจไม่ได้ ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาซึ่งปีนี้เป็นปีกระต่ายทุกบ้านมีกระต่าย แต่ครอบครัวของเขาไม่มีกระต่ายแล้ว เป็นความรู้สึกที่บรรยายได้ไม่หมด
ส่วนการเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่า เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น เช่น ทางม้าลาย ถูกปรับปรุงให้มองเห็นง่าย กำหนดจุดเตือนความเร็ว สัญญาณจราจรเพิ่มขึ้น ส่วนตัวยังคาดหวังให้การรณรงค์ครั้งนี้แพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ให้ประชาชนตระหนักถึงกฎหมายจราจร และยังคาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลได้กำหนดเป้ามหายความชัดเจนเกี่ยวนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และกำหนดกรอบระยะเวลาว่าจะทำได้เมื่อใด
ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพ ฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตคนเดินเท้าก่อนปี 2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 700-800 คน แต่ในปี 2565 ลดลงเป็นที่น่าพอใจ
การจัดงานครั้งนี้เป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเคารพกฎจราจร และแสดงให้เห็นว่าหมอกระต่ายเสียชีวิตไม่สูญเปล่า แต่จุดประกายให้สังคมได้ทราบถึงความสูญเสีย และเป็นการขับเคลื่อนพลังสำคัญ ทำให้ถนนปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ในวันนี้พ่อแม่หมอกระต่าย ได้ร่วมจุดเทียน บริเวณฟุตปาธ ริมถนนพญาไท จุดที่หมอกระต่ายถูกรถชนเสียชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาร่วมงาน จากนั้นร่วมเดินขบวนริมถนนพญาไท เพื่อรณรงค์ให้คนใช้ถนน ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยบนท้องถนน
ด้าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ำว่า ที่ผ่าน กทม.รับลูก ข้อเสนอของภาคีเครือข่าย ปรับปรุงทางกายภาพ โดยเฉพาะทางม้าลาย ทั้งการล้าง ทำสี รวมถึงติดตั้งไฟสัญญาณจราจรให้ครบทุกจุด พร้อมยืนยันว่า กทม.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนท้องถนน พร้อมจะประสานกับเครือข่ายผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และไรเดอร์ ให้มามีส่วนร่วมกับการรณรงค์ความปลอดภัย เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน มาจากไรเดอร์
นอกจากนี้ ที่เทศบาลนครอุบลราชธานี รณรงค์ทาสีทางม้าลายทั้งแบบหลากสี และแบบที่เป็นสีแดงสลับขาว แทนแบบเดิมที่เป็นขาวดำ บริเวณจุดข้ามถนนในเขตเทศบาล เพื่อให้คนขับรถมองเห็นเด่นชัดแต่ไกล เพื่อลดอุบัติเหตุ
ส่วนที่ จ.ยโสธร เครือข่ายเหยื่อเมา ร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์และแจกสติ๊กเกอร์ “หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย” เพื่อร่วมรำลึกถึงหมอกระต่ายในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการจากไป และเนื่องในวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน บริเวณ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดยโสธร