เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้จัดขบวนรถไฟโดยสารด่วนพิเศษ จำนวน 14 โบกี้ รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด จากกรุงเทพมหานคร ที่ลงทะเบียนจองเตียงรักษาผ่านระบบ สปสช. 1330 กลับไปรักษาตามภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยจะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม ปลายทางจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 1,489 คน , วันที่ 29 กรกฎาคม ปลายทางจังหวัดหนองคาย จำนวน 1,400 คน และวันที่ 30 กรกฎาคม ปลายทางจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 1,500 คน รวมประมาณ 4,389 คน โดยในเที่ยวแรกวันที่ 26 กรกฎาคม มีจำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนขอกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดแล้ว ดังนี้ จ.นครราชสีมา 296 คน, บุรีรัมย์ 203 คน,ยโสธร 99 คน ,ศรีสะเกษ 303 คน ,สุรินทร์ 243 คน ,อำนาจเจริญ 51 คน และอุบลราชธานี 294 คน รวม 1,489 คน
ทั้งนี้ ทาง ศบค.ได้สั่งการให้จังหวัดต่างๆ วางแผนประสานหน่วยงาน อาทิ สาธารณสุขจังหวัด,ขนส่งจังหวัด,หน่วยงานทหาร,ตำรวจและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมยานพาหนะ อาหาร น้ำดื่ม สุขาเคลื่อนที่ ระบบป้องกันการแพร่เชื้อ โดยให้มารับตัวผู้ป่วยที่จะลงยังสถานีรถไฟต่างๆไปรักษาตามโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม หรือจุดพักคอยแต่ละอำเภอจัดไว้
แต่จากการตรวจสอบผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้ล่าสุดเมื่อบ่ายวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางกลับไปรักษาที่บ้านเกิดโดยรถของโรงพยาบาล รถของหน่วยกู้ภัย รถโดยสารเช่าเหมาไปแล้ว และบางรายก็รักษาหายส่งผลให้เหลือผู้ป่วยที่ประสงค์จะเดินทางกับขบวนรถไฟโดยสารด่วนพิเศษจำนวนน้อย ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ยกเลิกขบวนรถด่วนพิเศษรับผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาตัวที่ภาคอีสานทั้งหมด และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกจัดรถโดยสารเที่ยวพิเศษและรถตู้กู้ชีพ ของมูลนิธิต่างๆ รับผู้ป่วยที่เหลือส่งกลับไปรักษาที่บ้านแทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ร.ฟ.ท.เตรียม 14 โบกี้ ส่งผู้ป่วยโควิดรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ขบวนแรกออกจากสถานีจิตรลดาพรุ่งนี้