เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เมืองไทย 360 องศา
หากมองในมุมอื่นบ้าง นอกเหนือจากเรื่องคดีทุจริต ที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กำลังรับโทษอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะได้มองเห็นถึงความโดดเดี่ยวเดียวดาย จนทำให้เกิดความสะท้อนใจได้เหมือนกัน ว่า ในช่วงชีวิตหนึ่งของบางคนกลับมีชะตากรรมแบบนี้ไปได้
เชื่อว่า หลายคนได้เห็นสภาพของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงเป็นคนที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ในยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงจะเกิดความรู้สึกแปลกแยกออกไปมากมาย
แน่นอนว่า หากกล่าวถึง นายบุญทรง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลในยุคนั้น ก็ต้องนึกถึงโครงการรับจำนำข้าว ที่ถูกระบุว่า เป็นโครงการที่ทุจริตกันอย่างมโหฬาร และสร้างความเสียหายทั้งด้านงบประมาณหลายแสนล้านบาท และยังตั้งงบประมาณชดเชยชำระหนี้กันไม่จบจนถึงวันนี้ ยังทำลายระบบการค้าข้าวในตลาดโลก ที่ไทยเคยเป็นประเทศส่งออกที่สำคัญของโลกก็ต้องมาสูญเสียตลาด เพราะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ต้องหยุดชะงักลง สารพัด
สำหรับคดีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นหนึ่งใน 15 จำเลยที่ถูกฟ้อง และในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 เพิ่มโทษนายบุญทรง อีก 6 ปี จากเดิมในชั้นศาลอุทธรณ์ ถูกจำคุก 42 ปี เพิ่มเป็น 48 ปี
โดยคดีนี้เป็นคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และพวกรวม 28 คน คดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
คดีนี้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 60 ศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษาครั้งแรกให้ นายบุญทรง และจำเลยร่วมคนอื่นๆ รวม 15 ราย จำคุกคนละ 4-48 ปี และยกฟ้องกลุ่มเอกชน 8 ราย ต่อมาอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยบางคน และให้ลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสีข้าว ขณะที่จำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่
สำหรับคำพิพากษาแก้ จำคุกนายบุญทรง จำเลยที่ 2 เพิ่มอีกกระทงหนึ่งเป็นเวลา 6 ปี รวมโทษจำคุกนายบุญทรง จากโทษเดิม 42 ปี เป็นจำคุกทั้งสิ้น 48 ปี และให้ลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสี ได้แก่ นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26 และ นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 28 คนละ 4 ปี พร้อมปรับคนละ 25,000 บาท นอกจากนี้ ยังให้ปรับนิติบุคคล ซึ่งเป็นโรงสีอีก 4 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22 บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ จำเลยที่ 24 บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25 จำเลยที่ 26 เป็นกรรมการบริษัท เคเอ็มซี อินเตอร์ไลฟ์ และบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 อีกรายละ 25,000 บาท โดยที่การกระทำของนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษ 2 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 23 จำนวน 8 ปี และปรับ 50,000 บาท
โดยที่พฤติการณ์ของกลุ่มโรงสี จำเลยที่ 23, 26, 28 นั้น เห็นสมควรให้รอลงอาญาไว้คนละ 3 ปี
นอกจากนี้ ยังให้กลุ่มโรงสีจำเลยที่ 22-23 ชดใช้เงิน 27 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการคลัง, จำเลยที่ 25-26 ร่วมกันชำระเงิน 15 ล้านบาท และจำเลยที่ 27-28 ให้ร่วมกันชดใช้เงิน 55 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้มีการกำหนดในคำพิพากษานี้ตามที่อัยการสูงสุด โจทก์ ยื่นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา
ยังมีคดีที่ต่อเนื่องกัน ที่นายบุญทรง กับพวก ตกเป็นจำเลยร่วม รวมทั้งต้องชดใช้ความเสียหายทางแพ่งอีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับในปัจจุบัน นายบุญทรง อายุ 62 ปี ถูกศาลฯพิพากษาจำคุก 48 ปี ซึ่งตามกฎหมายจะต้องถูกจำคุกจริงเป็นเวลา 20 ปี หลังถูกคุมขัง มีรายงานว่า ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้รับอภัยโทษลดวันต้องโทษเมื่อปี 64 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี โดยจะพ้นโทษในวันที่ 21 เมษายน 2571
อย่างไรก็ดี เรื่องราวของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้ถูกจับตามองอีกครั้ง หลังจากเขาได้ทำเรื่องขออนุญาตออกจากเรือนจำที่คุมขังออกมาเพื่อร่วมงานศพของมารดา โดย “สภาพ” ที่เห็นเชื่อว่าทำให้หลายคนสะท้อนใจ เพราะมีผมหงอกขาวทั้งศีรษะ รูปร่างซูบผอม ซึ่งก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่า นอกเหนือจากเรื่องปัญหาสุขภาพที่รุมเร้าเขาหลายโรค ที่ก่อนหน้านี้เคยมีคนในครอบครัวออกมาให้ข้อมูลว่าเขาต้องได้รับการผ่าตัดครั้งใหญ่มาแล้ว อีกทั้งสภาพที่ต้องคดี ถูกจองจำเป็นเวลานาน มันก็ย่อมต้องมีความทุกข์ตรม
ขณะเดียวกัน หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ภายในงานพิธีศพของมารดานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กลับไม่พบว่ามีคนในครอบครัวของนายทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย รวมไปถึง “ครอบครัวพรรคเพื่อไทย” ปรากฏตัวให้เห็นเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายยากเหมือนกัน เพราะจะว่าไปแล้วเขาก็เคยเป็นคนใกล้ชิดสำคัญ กลายเป็นว่าเขาต้องอยู่ในสภาพ “เดียวดาย” ตั้งแต่ต้นจนจบ
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ใครก็รู้ว่า นายบุญทรง ทำงานรับใช้ใกล้ชิด จนหลายคนเชื่อว่าเป็นคน “แบกรับความผิด” ในแบบต้องยอมติดคุกหัวโต ขณะที่บางคนกลับได้รับประโยชน์จากการทุจริตในโครงการไปมหาศาล !!