- วิชุตา ครุธเหิน
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
“โง่ดักดาน” คือหนึ่งในบรรดาถ้อยคำดูหมิ่นที่ วิชุดาพร ไชยแสง หรือ แนน ได้เผชิญแล้วแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตนเองจนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในรายการแข่งขันทำอาหารยอดนิยม “มาสเตอร์เชฟ สวีเดน” (Sveriges mästerkock) ซีซัน 9 ที่ออกอากาศในปี 2019
วิชุดาพร สาวอีสานจากยโสธรเล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้เพียบพร้อม หรือประสบความสำเร็จทางการศึกษา แต่ได้ใช้ทักษะการทำอาหารที่เธอรักกรุยทางสร้างโอกาสและชื่อเสียงให้ตัวเอง รวมทั้งทำให้คนสวีเดนได้รู้จักกับอาหารไทยมากขึ้นผ่านการร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของสวีเดนผลิตอาหารกล่องแช่แข็งเมนูไทย ๆ ออกจำหน่ายไปทั่วประเทศนี้
รสอาหารในวัยเยาว์
การทำอาหารเป็นสิ่งที่วิชุดาพรได้ซึมซับจากแม่มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เธอเล่าว่าเติบโตมาในครอบครัวชาวนา และคุณแม่ก็ทำอาหารเก่งจึงขายอาหารหารายได้เลี้ยงครอบครัวไปด้วย
“ตั้งแต่เด็กแล้ว แม่พาทำ (อาหาร) พอโตขึ้นมาเราก็ชอบ เวลาแม่หมักไก่หรือทำอะไรเขาจะนั่งอยู่ตรงชาน เขาจะหมักแล้วเขาจะเรียกเราว่า ‘หนูมาลองชิมมา’…แล้วเวลาแกตำเครื่องแกงอะไรแกจะบอกเราว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ แม่จะเก่งอาหารไทย ก็เลยได้จากแกมา ก็เลยชอบ”
ในวัย 20 ปี วิชุดาพรย้ายไปอยู่ฉะเชิงเทรา แล้วนำความรักในการทำอาหารไปเปิดร้านอาหารของตัวเอง แต่ด้วยที่ยังด้อยประสบการณ์ ธุรกิจของเธอจึงไปไม่รอด ทำให้ต้องย้ายกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดยโสธร และช่วงนั้นเองเธอก็มีลูกชาย 2 คนกับสามีคนไทย
ทว่าในเวลาต่อมา ชีวิตคู่กับสามีคนไทยได้จบลง วิชุดาพรจึงฝากลูกไว้กับคุณแม่ แล้วออกเดินทางจากยโสธรไปทำงานเป็นพนักงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ และได้พบรักกับสามีชาวสวีเดนซึ่งพาเธอข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่สวีเดนในปี 2010
คำดูหมิ่นจากเพื่อนร่วมชาติ
การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองนอกของวิชุดาพรไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด การที่เธอไม่ใช่คนเรียนหนังสือเก่ง ทำให้การเรียนภาษาสวีเดนตามหลักสูตรพื้นฐานที่ทางการจัดให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้าไปพำนักในประเทศนั้นกลายเป็นเรื่องที่แสนยากเย็น เธอเรียนซ้ำชั้นอยู่หลายครั้งจนเพื่อนคนไทยด้วยกันเอาเรื่องของเธอไปนินทาลับหลังให้ต้องเจ็บช้ำใจ
“ก็เรียนไปหลายปี เพื่อน ๆ ที่เขามาทีหลังมาอะไรก็ (เรียน) จบ คนที่เขามาก่อนปีสองปีเขาบอก ‘โอ้โห แนนอย่างโง่เลย เรียนตั้งกี่ปี’ แต่เขาไม่ได้พูดกับเรานะ เขาไปพูดกับเพื่อน เขาบอกว่าเพื่อนเธอไปพูดว่าเธอน่ะโง่…โง่ดักดาน เรียนตั้ง 4 ปี เสียใจค่ะ เสียใจมาก”
วิชุดาพรเล่าว่าตอนนั้นรู้สึกท้อแท้ที่เรียนภาษาไม่เก่งเท่าเพื่อน ๆ เพราะภาษาสวีเดนถือเป็นกุญแจสำคัญเพื่อศึกษาต่อในสายอาชีพ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูไปสู่โอกาสทำงานที่ดีในประเทศที่กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของเธอ
“ตอนนั้นหมดเขต (สอบ) แล้วแนนไม่ผ่าน ครูใหญ่เขาบอกว่าไม่สามารถให้แนนเรียนต่อได้ ร้องไห้เลยตอนนั้นน่ะ ตายแล้ว ฉันจะเรียนต่อไปยังไง ฉันจะยืนอยู่ได้ยังไง ฉันจะไปทำงานยังไง”
โชคดีที่คู่ชีวิตชาวสวีเดนคอยสนับสนุนเธอตลอดมา และเป็นคนเสนอให้เธอลองใช้ความสามารถในการทำอาหารไปสมัครแข่งขันมาสเตอร์เชฟ สวีเดน รายการทีวีที่วิชุดาพรใช้เป็นเพื่อนแก้เหงาตั้งแต่ย้ายไปอยู่สวีเดนใหม่ ๆ แม้ตอนนั้นยังฟังภาษาไม่เข้าใจก็ตาม
“เราดูทีวีนี่แหละ มาสเตอร์เชฟ เรารู้ว่าเราพูด (ภาษาสวีเดน) ไม่ได้”
แต่สามีของวิชุดาพรให้กำลังใจเธอเสมอมา บอกว่า “ที่รัก แต่เธอทำอาหารอร่อยนะ ไปสมัครมาสเตอร์เชฟไหม” แต่ตอนนั้น (ประมาณปี 2016) เธอรู้ดีว่าตัวเองยังไม่พร้อมเพราะพูดภาษาท้องถิ่นยังไม่เก่ง
“ไม่เอา ฉันยังพูดไม่ได้ ฉันจะไปเข้าใจเขาเหรอ” เธอเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้น
ในระหว่างนั้น วิชุดาพรก็ทำงานต่าง ๆ ที่เธอพอจะหาทำได้ เช่น งานทำความสะอาด ดูแลคนชรา ทำงานที่โรงอาหารของเทศบาล และร้านอาหาร แต่เธอไม่เคยทิ้งความรักในการทำอาหารไปเลย
วิชุดาพรเคยให้สัมภาษณ์กับ folk o folk เว็บไซต์อาหารและเครื่องดื่มของสวีเดนว่า เธอได้ความรู้ในการทำอาหารมากมายจากการดูรายการมาสเตอร์เชฟ โดยเฉพาะความรู้จาก เลฟ มันเนอร์สเตริม (Leif Mannerström) เชฟชื่อดังของสวีเดน หนึ่งในคณะกรรมการของรายการ
“ฉันมีความรู้สึกอยู่ลึก ๆ ที่บอกว่า ‘เขาอาจช่วยฉันได้ เขาอาจช่วยให้ฉันได้ทำอะไรบางอย่าง เขาอาจให้คำแนะนำฉันได้'” เธอระบุในการสัมภาษณ์
หลังจากใช้ชีวิตอยู่สวีเดนมาร่วม 9 ปี และเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับอาหารตะวันตก ในที่สุดวิชุดาพรก็ตัดสินใจสมัครเข้าแข่งขันในรายการมาสเตอร์เชฟปี 2019
บูลลี่
วิชุดาพร ใช้อาหารไทยอย่าง “พะแนงเนื้อกับข้าวสวย” เป็นเมนูแรกกรุยทางผ่านรอบออดิชันในระดับภูมิภาคที่มีผู้แข่งขันหลายร้อยคน แต่เมื่อได้เข้าสู่รอบที่ผู้แข่งขันทั่วประเทศถูกคัดมารวมกันจนเหลือประมาณ 45 คนแล้ว เธอกลับเจอเรื่องที่ทำให้คิดจะออกจากการแข่งขัน
แม้มั่นใจในฝีมือการทำอาหารของตัวเอง แต่วิชุดาพรรู้ดีว่าภาษาสวีเดนคือจุดอ่อนของเธอ
“พูดภาษายังไม่ได้ แต่ยังได้ผ่าน (เข้ารอบ)” คือหนึ่งในคำเหน็บแนมที่เธอได้ยินจากผู้แข่งขันคนอื่น “จะไม่ค่อยมีคนมานั่งกับเรามากมาย จะมีน้อยคนที่เข้ามาทัก บางคนเขาก็นิสัยดี บางคนก็แอนตี้เราว่ามา (แข่ง) ได้ยังไง”
“พี่ร้องไห้เลยนะ พี่โทรบอกแฟนว่าฉันจะกลับแล้วนะ ฉันจะไม่แข่งแล้ว” เธอเล่าให้บีบีซีไทยฟัง รวมถึงเรื่องที่ถูกผู้แข่งขันหญิงคนหนึ่งวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ของเธอ
“ครั้งหนึ่งเขาพูดให้เราเสียใจเลยว่า ‘ฉันไม่ชอบผู้หญิงแต่งหน้าทาปาก ฉันชอบแบบธรรมชาติ’ แล้วเขาก็มองมาที่เรา เราก็น้อยใจเพราะเราชอบแต่งหน้า” วิชุดาพรเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือแม้เวลาจะผ่านมาร่วม 2 ปีแล้วก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอตัดสินใจไปขอถอนตัวกับผู้ดูแลการแข่งขัน ซึ่งได้พูดให้แง่คิดและกำลังใจจนเธอฮึดสู้ต่อไป
“เขาถามเราว่าเป็นอะไรถึงอยากจะกลับ…เราก็บอกว่าไม่รู้สึกดีอะ ภาษาเราก็ไม่ได้…อ้าว? ภาษาไม่ได้แต่อาหารอร่อยไหมอะ..อร่อย เราก็บอก เขาก็หัวเราะ แล้วบอกเราว่า เธอคิดว่าอาหารเธออร่อยแล้วเธอจะกลับบ้านเหรอ กลับบ้านก็เหมือนกับคนอื่นเขาจะยิ่งได้ใจ ดีไม่ดีเธออาจจะชนะก็ได้นะถ้าเธอสู้ต่อ”
ข้อคิดนั้น ทำให้วิชุดาพรล้มเลิกความคิดจะยอมแพ้ “แค่เราพูดภาษาไม่ชัด หรือพูดภาษาไม่ได้ เราจะต้องโดดออกเพื่อให้เขามีความสุขเหรอ…ฉันต้องลองแหละ”
รสชาติอาหารที่น่าตื่นเต้น
แรงฮึดในครั้งนั้น ทำให้สาวจากยโสธรผู้นี้ได้รับคัดเลือกให้ติด 1 ใน 12 ผู้แข่งขันที่เข้ารอบสุดท้ายซึ่งปรากฏตัวในรายการมาสเตอร์เชฟที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของสวีเดนเมื่อต้นปี 2019
วิชุดาพรหยิบเอาความรู้ในการทำอาหารที่สั่งสมมาทั้งหมดออกมาแสดงฝีมือให้กรรมการ 3 คนได้ลิ้มลอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เลฟ มันเนอร์สเตริม เชฟคนโปรดของเธอ
“เวลาเราทำอาหารเราต้องเรียนรู้ แฟนพี่จะพาไปกินทุกอย่าง แม้กระทั่งอาหารขายตามตลาดนัด ให้ชิมทุกอย่าง และจนอาหารไฟน์ไดน์นิง (fine dinning) ร้านอาหารหรู ๆ เขาก็พาพี่ไป ก็ต้องชิมอะ ถ้าไม่ชิมเราจะไม่รู้รสชาติของอาหาร มันก็เลยทำให้พี่มีความรู้ว่าตัวนี้เราเคยชิม เอามาจับใส่ตัวนี้นะ แล้วเอามาทำเป็นซอสตัวนี้นะ หรือจะเอาแค่มาใส่กินด้วยกันมันก็อร่อยแล้ว”
อาหารที่เธอทำในการแข่งขันครั้งนี้มีทั้งเมนูอาหารไทย และอาหารฝรั่ง รวมทั้งเมนูที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างอาหารทั้งสองประเภท เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ใส่ซอสมะขาม ซึ่งทำให้เธอได้รับคำชมจากคณะกรรมการว่าเป็น “รสชาติอาหารที่น่าตื่นเต้น”
“เขาบอกว่าเขาไม่เคยชิม แต่สิ่งที่จับมาผสมกันของเธอฟังดูแล้วมันน่าตื่นเต้น”
แต่สิ่งที่ทำให้เธอพลาดแชมป์ในการแข่งขันครั้งนี้คือการทำเมนู oxfilé provençale สเต็กสันในวัว อาหารคลาสสิกของคนสวีเดน ซึ่งเป็นเมนูที่เธอไม่รู้จักหรือเคยรับประทานมาก่อน
“ก็เลยแพ้เขา หลังจากนั้นพี่เสียใจมาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้ ถ้ารู้ว่าอาหารตัวนี้คืออะไร เราเคยเห็นหรืออะไรมาแล้วเนี่ย พี่ว่าพี่ทำได้”
ความสำเร็จหลังการแข่งขัน
แม้ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 แต่วิชุดาพรก็ได้เซ็นสัญญาเขียนหนังสือที่ชื่อ Super tasty thai! ซึ่งรวบรวมตำราอาหารไทยและอาหารชาติอื่น ๆ ตามแบบฉบับของตัวเธอเอง โดยปีที่ผ่าน ๆ มามีเพียงผู้ชนะเลิศของรายการมาสเตอร์เชฟเท่านั้นที่ได้เซ็นสัญญานี้
ขณะเดียวกันเธอยังได้ร่วมงานกับ “ดอฟโกร์ดส” (Dafgårds) บริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของสวีเดนในการออกผลิตภัณฑ์อาหารกล่องแช่แข็งหลายเมนู อาทิ ผัดไทยไก่ พะแนงไก่ และไก่เทอริยากิ ออกจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศสวีเดน และมีแผนจะออกเมนูอื่น ๆ เพิ่มอีกในปี 2021 นี้
นอกจากนี้ วิชุดาพรได้รับว่าจ้างให้สอนทำอาหารไทยจากเจ้าของกิจการร้านอาหารเคลื่อนที่ หรือ “ฟู้ดทรัค” ด้วย และได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคดีเกินคาด
“เขาเปิดได้แค่อาทิตย์นึงมั้ง คนไปซื้อเขาเยอะมาก…แล้วเขาก็โทรมาบอกว่าปิดแล้วฟู้ดทรัค ตอนแรกนึกว่าไม่มีใครซื้อ เขาบอกว่าฉันไปเช่าร้านเลย”
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้วิชุดาพร คิดทำธุรกิจฟู้ดทรัคเป็นชื่อของตัวเองในปีนี้ โดยเน้นขายเฉพาะอาหารไทยเมนูเด่น ๆ แต่ความฝันสูงสุดของเธอคือการเปิดร้านอาหารหรูแบบไฟน์ ไดน์นิง ที่ขายอาหารลูกผสมไทยกับสวีเดน ทั้งในเมืองไทยและที่สวีเดน
เมื่อมองย้อนกลับไปถึงชีวิตในวัยเด็กที่เติบโตขึ้นมาในชนบทและอาจไม่ได้เรียนหนังสือสูงแบบคนอื่น วิชุดาพรคิดว่าตัวเองได้เดินมาไกลจากจุดนั้นมาก เธอบอกว่ารู้สึกภาคภูมิใจกับความสำเร็จในวันนี้ แม้จะยังไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เพราะมันคือสิ่งที่เธอต่อสู้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง และถึงจะได้รับการหยิบยื่นโอกาสทางอาชีพจากผู้ใหญ่ใจดี แต่ก็ต้องขวนขวายหาโอกาสให้ตัวเองด้วย ทั้งการวิ่งเสนอผลิตภัณฑ์อาหารกับบริษัทต่าง ๆ ไปจนถึงการเสนอตำราทำอาหารกับสำนักพิมพ์
“ชีวิตทุกคนมันมีไม่เหมือนกัน บางคนก็รวยบางคนก็จน แต่ถ้าเราจนเราจะทำยังไง เราก็แค่หาประสบการณ์เรียนรู้ก่อน แต่เราอย่าเพิ่งไปเริ่มขั้นสามขั้นสี่ เราเริ่มขั้นที่หนึ่งก่อน ก้าวบันไดขั้นที่ศูนย์ก่อน แล้วคิดว่าเราชอบทำอะไร ที่เราชอบทำจริง ๆ ถ้าเราทำแล้วมันต้องมองหาหนทาง ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่มองหาหนทางมันก็ไม่มีทาง”
“พี่ไม่ได้เรียนหนังสือ ขนาดไม่ได้เรียนยังมายืนถึงจุดที่แม้จะไม่ได้สูงสุด แต่ก็เป็นจุดที่ปลื้มใจมาก ๆ ว่าคนอีสาน เด็กบ้านนอกไม่มีแม้กระทั่งการศึกษา เพื่อนก็บอกเรียนโง่เรียนอะไร ยังได้มายืนทำงานขนาดนี้ พี่ก็ว่าพี่ภูมิใจ”
เมื่อถามถึงคำดูถูกจากเพื่อนร่วมชาติที่เคยทำให้ต้องช้ำใจในอดีต วิชุดาพรบอกว่า
“ขอบใจนะที่บอกว่าฉันโง่ มันเป็นแรงผลักดันให้ตัวเอง”