วันจันทร์ ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
‘เจ้าพระยา’เริ่มล้นแล้ว
‘ปทุมธานี’อ่วม
ระดับน้ำสูงกว่า1.5เมตร
ปชช.เร่งขนของขึ้นที่สูง
‘อยุธยา’คันกั้นน้ำเกิดแตก
ท่วม‘บางบาล’เกือบมิดหัว
‘อัศวิน’ย้ำกทม.รับมือไหว
ปภ.ชี้ 17 จังหวัดยังอ่วมน้ำท่วมหนัก ส่วนตลาดที่สามโคก ปทุมธานี เริ่มจมบาดาล น้ำเจ้าพระยาพังเขื่อนวัดจุฬามณี กรุงเก่า ไหลท่วมวัด-ชุมชน“บิ๊กตู่” สั่งกองทัพช่วยชาวบ้าน เสียใจกำลังพลถูกไฟฟ้าแรงสูงสาหัส ด้านผู้ว่าฯ กทม.ลงเรือตรวจสถานการณ์น้ำ เร่งอุดแนวฟันหลอ ยันไม่ท่วมหนักเท่าปี’54
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ในช่วงวันที่ 23 กันยายน-3 ตุลาคม 2564 ว่าเกิดอุทกภัยใน 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, สุโขทัย, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, กำแพงเพชร, เลย, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, ยโสธร, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, จันทบุรี, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม
รวม195 อำเภอ 1,001 ตำบล 6,909 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 264,210 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 8 ราย คือ ลพบุรี 6 ราย, เพชรบูรณ์ 1 ราย และชัยนาท 1 ราย สูญหาย 1 รายที่เพชรบูรณ์
เตี้ยนหมู่เล่นงาน17จังหวัดอ่วม
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด คือ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, บุรีรัมย์, นครปฐม, ยโสธร, สุรินทร์, เลย, ศรีสะเกษ, สระแก้ว, จันทบุรี, ปราจีนบุรี และกำแพงเพชร ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 17จังหวัด รวม 81 อำเภอ 488 ตำบล 2,871หมู่บ้าน ได้แก่ จ.สุโขทัย , พิษณุโลก ,เพชรบูรณ์ , พิจิตร , ขอนแก่น , ชัยภูมิ , นครราชสีมา , อุบลราชธานี , นครสวรรค์ , อุทัยธานี , ชัยนาท , ลพบุรี , สระบุรี , สุพรรณบุรี , สิงห์บุรี , อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
ภาพรวมสถานการณ์ ปัจจุบันบางพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ตลาดอิงน้ำสามโคกเริ่มจมแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำไหลลงเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในอัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาทีอีกทั้งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำไหลลงเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในอัตรา 900-1,200 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้น้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา (C.29A) ก่อนเข้า จ.ปทุมธานี อยู่ในอัตรา 3,000-3,200 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นอกคันกั้น คือ อ.สามโคก อ.เมือง จ.ปทุมธานี
ทั้งนี้ ที่ตลาดอิงน้ำสามโคก ตลาดเก่าและแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เริ่มมีน้ำเอ่อล้นท่วมตลาด สูง 20-30 เซนติเมตร ทำให้ร้านค้าต่างพากันก่ออิฐ นำกระสอบทรายมากั้นเพื่อป้องกันน้ำ ส่วนพื้นที่ใกล้เคียง เช่น วัดสะแก ต.สามโคก ก็มีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมลานวัดและพระอุโบสถแล้ว จึงต้องนำกระสอบทรายมากั้นไว้
ปทุมธานีนอกแนวกั้นท่วม1เมตร
เวลา 10.30น.ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่ง หลังจากที่กรมชลประทานเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมรับมือมรสุมที่อาจจะเข้ามาในอีก 2-3วันนี้ ทำให้ประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบจากน้ำไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนโดยที่บ้านเลขที่17/1 หมู่5 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ถูกน้ำท่วมบ้านชั้นล่าง จนไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ ต้องนำสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง โดยบางอย่างต้องนำไว้บนเรือเพื่อป้องกันความเสียหาย
นายประเสริฐ สงบ อายุ 68 ปี เปิดเผยว่า น้ำไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำมากว่า 2 สัปดาห์ สิ่งของมีค่าต้องเก็บขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหาย ระดับน้ำปีนี้เกือบเท่าเมื่อปี2538 แต่ต่างจากปี2554 เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ที่น้ำต้องสูงกว่านี้อีก 2 เมตร ครั้งนั้นบ้านชั้นที่1 ท่วมทั้งหมด โดยสิ่งที่ลำบากขณะนี้คือการเข้าออกบ้านเพื่อไปทำธุระภายนอกและการเข้าห้องน้ำ
ชาวปทุมฯอพยพอาศัยบนถนน
ด้านนางบุญเรือน นวลขำ อายุ 59ปี อยู่บ้านเลขที่ 10/3 หมู่ 5 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ต้องย้ายออกมาบนถนนเพราะน้ำไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านกว่า 2 สัปดาห์ ส่วนคืนที่ผ่านมาน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นกว่าทุกวัน สิ่งที่ลำบากคือห้องสุขาที่ไม่สามารถใช้งานได้ และต้องประกอบอาหารบนถนน เพราะชั้นที่ 1ของบ้านถูกน้ำเอ่อท่วมสูงกว่า 1.2 เมตร ประกอบกับการเข้าออกบ้านลำบาก เนื่องจากเพิ่งเข้ารับการผ่าตัด ทำให้เดินไม่สะดวก และคาดว่าน้ำน่าจะเพิ่มระดับสูงขึ้นกว่านี้
ขณะที่จุดกลับรถใต้สะพานปทุมธานี1 ต.บ้านกลาง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลเอ่อเข้าท่วมสูง 30เซนติเมตร ซึ่งแขวงทางหลวงปทุมธานี นำกระสอบทรายเข้ากั้นน้ำ และเครื่องสูบน้ำไปสูบน้ำออกจากผิวการจราจรเพื่อให้สามารถใช้การได้ตามปกติสำหรับสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจุดที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยถูกน้ำไหลเอ่อเข้าท่วม โดยปริมาณน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ
เจ้าพระยาทะลักเขื่อนวัดจุฬามณี
ส่วนกระแสน้ำเจ้าพระยาที่ไหลเชี่ยว ได้เพิ่มแรงอัดจนทำให้กำแพงแนวป้องกันน้ำท่วมฝั่งทิศใต้ของวัดจุฬามณี ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พังเสียหายในช่วงเช้ามืดวันเดียวกัน ส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมาก ไหลเข้าท่วมวัด และชุมชนรอบวัด สูบเกือบ 2 เมตร ทำความเสียหายแก่รั้ว เจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษของชาวชุมชน เสียหายกว่า 20 เจดีย์ แม้ว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางวัดและชาวบ้านได้ช่วยกันทำคันกั้นน้ำไว้รอบวัด แต่น้ำมีความเชี่ยวและแรงดันมาจนเกิดความเสียหายดังกล่าว
ชุมชนคลองตะเคียนท่วม2เมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กรมชลประทาน มีการปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,779 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนมุสลิมดั้งเดิมของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งทิศตะวันตก และบริเวณปากคลองตะเคียนทั้งหมด ถูกน้ำท่วมสูง 1.5-2 เมตร แล้ว โดยสถานการณ์น้ำท่วมในหมู่ 12 ต.ปากกราน ปากคลองตะเคียน มีชุมชนชาวมุสลิมที่ตั้งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ได้รับความเสียหาย อาทิ ชุมชนปากกราน ชุมชนคลองตะเคียน ชุมชนสำเภาล่ม
บิ๊กตู่จี้กองทัพช่วยชาวบ้านน้ำท่วม
ด้าน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการทุกเหล่าทัพ สนับสนุนจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก รับมือมวลน้ำที่ทยอยระบายจากพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำสายหลักได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยให้ทุกเหล่าทัพช่วยเหลือประชาชนกว่า 229,000 ครอบครัวใน 31 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องพร้อมกันนี้ นายกฯได้แสดงความเสียใจต่อกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย จากอุบัติเหตุถูกกระแสไฟจากไฟฟ้าแรงสูง ระหว่างเข้าช่วยเหลือประชาชนใน จ.ชัยภูมิ ด้วย และให้กองทัพบกช่วยเหลือดูแลรักษาพยาบาลให้ดีที่สุด และขอให้กำลังพลใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน
สับเปลี่ยนกำลัง-เครื่องมือลงพื้นที่
พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ทุกเหล่าทัพได้หมุนเวียนสับเปลี่ยนกำลังพลกว่า 10,000 นาย พร้อมเครื่องมือเครื่องจักร รถขุดตัก รถบรรทุก รถครัวสนาม เรือท้องแบบ กว่า 200 ลำ เครื่องสูบน้ำ เรือผลักดันน้ำ และอื่นๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่แพทย์ ลงพื้นที่ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนใน 31 จังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นวงกว้าง มีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย ช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างในพื้นที่ แจกสิ่งของอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งจัดแพทย์เคลื่อนที่ให้การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกัน กำลังพลได้บรรจุกระสอบทรายกว่า 63,500 กระสอบ จัดทำพนังกั้นน้ำและสนับสนุนเครื่องมือช่างเปิดทางน้ำ กำจัดวัชพืชบริเวณประตูน้ำและคอคอดของลำน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเรือผลักดันน้ำ 26 ลำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงแม่น้ำสายหลักต่างๆ เพื่อลดความเสียหายให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งได้ติดตั้งสะพานทางทหาร 3 แห่งและซ่อมแซมสะพานในพื้นที่ซึ่งน้ำป่าไหลหลากและเส้นทางถูกตัดขาดในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เพชรบูรณ์และพะเยา
บิ๊กป้อมลุยน้ำท่วมสระแก้ว8ต.ค.
นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชรและรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกำหนดการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า มีกำหนดการลงพื้นที่ จ.สระแก้ว วันที่ 8 ตุลาคมนี้ แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยจะดูตามหน้างาน ซึ่งขณะนี้ จ.สระแก้ว ก็ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนกำหนดการจัดสัมมนาของพรรคได้เลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงให้ สส.แต่ละคน ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนไปก่อน
ชัยวุฒิลงพื้นที่อ่างทอง-สิงห์บุรี
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย โดยมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.อ่างทอง นายสมศักดิ์ อดีต สส.นายภราดร และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ให้การต้อนรับ ซึ่งมีชาวบ้านเดือดร้อน 902 ครัวเรือน โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า จะเร่งนำปัญหา สิ่งที่ยังขาดแคลนไปผลักดันงบประมาณเพื่อเร่งรัดช่วยเหลือประชาชน จากนั้นได้ลงพื้นที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ก่อนรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมจากนายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผวจ.สิงห์บุรีซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 53,000 ครัวเรือนส่วนใหญ่น้ำท่วมเกิดจากปัญหาน้ำล้นตลิ่ง
รมช.ศึกษาฯรุดช่วยเหลือชาวโคราช
ส่วนคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภา อดีต สว.นครราชสีมา นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต สส.นครราชสีมา พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่พี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่หมู่ 9 บ้านลำเชิงไกร ต.โคกสูง อ.เมืองจ.นครราชสีมา
ผู้ว่าฯกทม.ตรวจระดับน้ำเจ้าพระยา
อีกด้านหนึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ลงเรือตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของประชาชนนอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้สะพานพระราม 7 เขตบางพลัด ถึงชุมชนโรงสี เขตยานนาวา โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมด้วย
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจมีระดับน้ำสูงขึ้น รวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดยืนยันว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 2554
อุดแนวฟันหลอยันไม่ท่วมเท่าปี54
“กทม.เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ โดยพร่องน้ำในคลองเพื่อรองรับน้ำ สร้างธนาคารน้ำสร้างท่อเร่งระบายน้ำ ขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ และตรวจสอบความแข็งแรงจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากปี 2554 ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางและเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
นอกจากนี้ยังตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำ97 สถานี บ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าประจำจุด มีเครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง
ชี้7เขตนอกคันกั้นอาจมีผลกระทบ
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ใน7 เขต อาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม จึงสั่งการให้สำนักงานเขต ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง หากระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย
เผยระดับน้ำในกทม.ยังรับมือไหว
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกทม.เฉลี่ย 3,052 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด กทม.อยู่ที่ 1.85 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม.อยู่ประมาณ 1.15 เมตร จึงไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากน้ำขึ้นเต็มที่ โดยฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 19.04 น.ที่ระดับ +1.15 ม.รทก. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงวันที่ 1-5 ตุลาคมนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ กทม.และประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา