จากสถานการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบภัย“น้ำท่วม”หนัก กอปรกับกรมชลประทานกำลังเร่งระบายน้ำเหนือเขื่อนลงมายังพื้นที่ภาคกลาง
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเพจ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ถึงการติดตามสถานการณ์จากพายุเตี้ยนหมู่ มาตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 25 ก.ย. “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ได้ลงพื้นที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อสำรวจการไหลของน้ำ โดยนำไปเทียบเคียงกับสถานการณ์อุทกภัยใหญ่ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 ด้วย
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” โพสต์ข้อความไว้ว่า ขอให้ติดตาม เฝ้าระวังฝนตกหนัก และหนักมากตามแนวร่องฝนจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “Dianmu” (เตี้ยนหมู่) แถบสีชมพูที่ผมส่งมา
โดยตั้งแต่เช้าวันศุกร์ที่ 24 กันยายน ประมาณ 10.00 น. ภาคอีสานกลาง-ใต้ (อุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยภูมิ)
จากนั้น วันเสาร์ที่ 25 กันยายนตั้งแต่ช่วงบ่าย 13.00 น.เริ่มเข้าสู่ภาคกลางตอนบน (เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร นครสววรค์ และตาก) และเคลื่อนตัวเข้าประเทศพม่าเช้าวันที่ 26 กันยายน
ดังนั้นชุมชนที่ลุ่มต่ำ ชุมชนใกล้พื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ชุมชนริมเชิงเขา ควรระมัด ระวังจัดการความเสี่ยงตัวเองโดยย้ายยานพาหนะไปที่ปลอดภัย ย้ายทรัพย์สินพ้นน้ำ อพยพไปยังที่ปลอดภัย เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรง และความเสียหายเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และเส้นทางพายุ
ผมกำลังประเมินพื้นที่เฉพาะแห่งที่มีความเสี่ยงสูง และถ้าแล้วเสร็จจะโพสให้รับทราบทันทีต่อไป ด้วยความห่วงใยทุกท่านครับ
ขณะที่เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 64 “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” และทีมงานได้ออกไปประเมินสถานการณ์น้ำ และฝนที่เขาใหญ่ และอำเภอปากช่อง โดยระบุข้อความด้วยว่า ด้วยความห่วงใยต่อเหตุการณ์น้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 และ 2563 ประกอบกับอำเภอปากช่องยังขาดระบบเตือนภัยที่มีความแม่นยำสูง
ผม และทีมงานจึงได้พัฒนาแบบจำลองคาดการณ์ และประเมินความรุนแรงของน้ำท่วม (ดูรูปที่แนบมาข้างซ้ายเป็นเหตุการณ์ปี 2563) ซึ่งพบว่าแม้ฝนจะตกไม่มากที่ต้นน้ำเขาใหญ่ แต่หากมีฝนมากในลุ่มน้ำสาขา ก็ทำให้อำเภอปากช่อง (ซึ่งอยู่ปลายน้ำ) เกิดน้ำท่วมได้