“ไผ่ พงศธร” เจ้าของเสียงร้องเพลง “คนบ้านเดียวกัน” ได้รับความนิยมถล่มทลายหลายปีผ่านมา ยอมรับในวัย 40 ปี มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายส่วน ที่เด่นชัดคือร่างกาย ค่อยๆ ร่วงโรยไปตามกาลเวลา
“แต่ก่อนเวลาผู้สูงอายุ เขาบอกโอ๊ยเจ็บเอว เจ็บขา เจ็บขา โอ๊ยมองไม่เห็นอันนั้นอันนี้ เราค้านในใจตลอดเวลา มันเป็นไปไม่ได้หรอก”
นักร้องลูกทุ่งคนดังบอกกับทีมข่าว Sanook.com หลังทำบุญใหญ่ พร้อมกับคุณแม่บุญทัน ศรีจันทร์ ครอบครัว และแฟนคลับ ที่ วัดศรีครฉาย บ้านสร้างแต้ ต.โพนงาม อ.กุดชุม จ.ยโสธร วัดประจำบ้านเกิด เพื่อความเป็นสิริมงคล ในวันคล้ายวันเกิด 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา
“พอเข้าอายุเลข 4 เป็นจริงครับ ไอ้ที่เรายิ้ม แล้วก็รู้สึกตอนนั้น มาแล้วครับมาแล้ว ขา เอว สายตา ผิวพรรณ อะไรต่างๆ ผม ขนจมูกที่มีสีขาวแซมๆ มีแล้วครับ มาแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ”
ไผ่ บอกต่อว่า นอกจากสภาพร่างกาย มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาแล้ว รูปแบบการทำงานของเขาก็มีความเปลี่ยนแปลงไปจากวันวาน โดยมีตัวแปร อาทิ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีก้าวกระโดด
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้การมีชื่อ กับการมีงานมันคนละเรื่องกัน ต้องยอมรับเลยว่า ตอนนี้เราก็อายุเพิ่มขึ้น น้องๆ หลายๆ กลุ่ม ก็มีการพัฒนาค่อนข้างเยอะ”
ไผ่ เล่าต่อว่า การทำงานในอดีต ส่วนใหญ่ “งานวิ่งเข้ามาหา” แต่ปัจจุบันภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการทำงานของผู้คน เขาต้องปรับตัวมาเป็น “วิ่งไปหางาน”
“นักร้องหลายคนก็เปลี่ยนวิธีการ มานำเสนอแบบใหม่ ตอนนี้ผมก็เลยทำเป็นรถแห่ ที่สามารถเข้าไปถึงแฟนเพลงได้ง่าย ก็จะมีน้องๆ นักดนตรี เป็นทีมงาน ที่สามารถนำพารถ ไผ่ พงศธร ไปหาแต่ละชุมชนได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ไม่ได้สูงมาก”
“ผมว่าทุกวันนี้ เราจะนั่งอยู่เฉยๆ แล้วรอให้เขามาจ้าง มันก็คงยากต้องไปนำเสนอว่าเรามีอะไรบ้าง” ไผ่ ย้ำ
เจ้าของฉายา “หนุ่มตามฝันจากบ้านไกล” ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพนับไม่ถ้วน เปรียบการเดินทางของคนเราเหมือน “เทียน” เมื่อเกิดก็เหมือนดั่งเทียนที่ถูกจุด นับวันมีแต่สั้นลง
อายุที่เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงวันเกษียณที่รออยู่ข้างหน้า ขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เขาจึงตัดสินใจทำธุรกิจกาแฟ “ไผ่ คอฟฟี่” ควบคู่กับการทำงานวงการบันเทิง
“ผมว่าตั้งแต่โควิดเข้ามา หลายคนเลือกในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันมั่นคงกับตนเอง ต่อยอดไปเรื่อยๆ ถึงลูกถึงหลาน ถึงครอบครัวของเรา”
“วันหนึ่งที่ผมอาจจะไม่ได้เป็นนักร้องแล้ว หรืออาจจะไม่ได้อยู่ในโลกใบนี้แล้ว ก็ยังสามารถมีธุรกิจอันนี้ คอยที่จะดูแลครอบครัวไปได้”
ส่วนการที่เปลี่ยนกระท่อมกลางทุ่งนา ให้กลายเป็นบ้านมีเครื่องอำนวยความสะดวก เหมาะกับการพักอาศัยแบบถาวร เพราะตัดสินใจแล้วว่า จะเลือกใช้ชีวิตแบบเกษตรกร เมื่อวันแขวนไมค์เดินทางมาถึง
“ตรงนี้มันเป็นผืนนาของพ่อ วันสุดท้ายเขาคุยกับผมเนี่ย ในช่วงเย็นๆ ที่ผมเลิกโรงเรียนเราเป็นลูกคนสุดท้อง และเป็นผู้ชายเนี่ย ดูแลครอบครัวด้วยพอถึงตอนเช้า เขาก็ไปแล้ว”
“อยากทำให้มันมีมูลค่าทางจิตใจ เป็นศูนย์รวมระหว่างครอบครัว บ้านเป็นสิ่งที่มันสำคัญมากๆ สำหรับผมเวลารู้สึกท้อ หรือว่ารู้สึกเหนื่อย ถ้าได้กลับมาที่นี่ เหมือนมันวาง เอาอะไรที่มันหนักๆ ไว้ข้างนอก”
“เมื่อได้เวลาเกษียณจะเลือกเป็นแบบไหน ผมเลือกเป็นเกษตรกร ได้อยู่กับไร่กับนา ไปทำบุญบ้าง ใส่บาตร สวดมนต์ให้กับตัวเองบ้าง ไปหาญาติพี่น้องเพิ่มพลังให้กับชีวิต ตื่นเช้ามาก็อยู่กับที่ ที่เราอยากจะอยู่ ผมว่าผมพอใจ”
ส่วนการเนรมิตที่ดินกว่า 60 ไร่ ที่เขาใช้เงินที่หามาจากน้ำพักน้ำแรงซื้อไว้ใกล้กับทุ่งนาของตระกูล ให้กลายเป็นบ้านสวน เพราะตั้งใจสร้างคลังอาหารธรรมชาติ เอาไว้รองรับอนาคต
“บ้านสวนผม เวลาผมเข้าไปผมรู้สึก มันอบอุ่นใจ ไปเจอบ่อปลา ไปเก็บเห็ด ไปเจอหน่อไม้ ไปเจอต้นอินทผาลัม ไปเจอต้นกล้วย ไผ่กิมซุง ชะอม มะนาว สะเดา ต้นไม้ตามฤดูกาล มันเริ่มออกผลออกดอก เก็บไข่ไก่มากิน”
“มีความสุข ไม่ยินเสียงนกร้องได้ยินเสียงลมพัดเบาๆ นั่งตรงไหนก็ได้มันเย็นใจไปหมดเลย เรามีผักครบไม่ต้องไปซื้อที่ตลาด ไม่ได้ใส่ยาปลอดภัยเก็บฝากใครก็ได้ อย่างพริกล้างแล้วก็กินได้เลย”
ไผ่ บอกทิ้งท้ายว่า การดำเนินชีวิตโดยไม่ประมาท มีการเตรียมตัวเพื่อรองรับอนาคตต่อเนื่อง ทำให้เขาไม่กลัว เมื่อวันแขวนไมค์เดินทางมาถึง
“ไม่ใช่ว่าไม่รักการร้องเพลงนะครับ รัก แต่วันหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ สุขภาพเราล่ะ ถ้ามันไปไม่ได้จริงๆ หรือไม่มีคนจ้างเราจริงๆ จังหวะ และเวลามาบวกกัน โอกาสมันเกิดขึ้นแน่นะครับ ถึงคุณจะไม่หยุดถ้าถึงเวลาที่จะต้องหยุด คุณก็ต้องหยุด”
“ผมว่า ถ้าเราเตรียมความพร้อม มันไม่น่ากลัว มีบ้าน มีครอบครัวที่สมบูรณ์ มีที่ไร่ที่นาที่วางแปลนเอาไว้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ”
“ไม่กลัวความลำบาก เพราะผมมาจากครอบครัว ที่ไม่ได้มีอะไร แต่ตอนนี้ยังมีแรงก็ต้องสู้ต่อไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องปัจจัยมีความสำคัญต่อชีวิต”