วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2024

“พายุ ดาวดิน” 7 วัน หลังเสียดวงตาจากการสลายการชุมนุมหยุดเอเปค – BBC News ไทย

tnp

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” เดินทางเข้ายื่นข้อเรียกร้องให้ตำรวจเปิดเผยชื่อผู้ปฏิบัติงานเหตุสลายการชุมนุมเมื่อ 18 พ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นับแต่วันที่ พายุ บุญโสภณ หรือ “พายุ ดาวดิน” ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ดวงตาหลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” เมื่อ 18 พ.ย. จนทำให้เขาต้องตาบอดและยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจนถึงวันนี้ เขาก็เลือกที่จะไม่พูดคุยกับใครเลย

นิติกร ค้ำชู หรือ “ตอง ดาวดิน” หนึ่งในเพื่อนร่วมขบวนการที่ไปชุมนุมกับพายุ เป็นผู้ที่ติดตามและดูแลพายุอย่างใกล้ชิดหลังจากที่เขาต้องเข้ารักษาตัว  

นิติกรบอกกับบีบีซีไทยว่าตั้งแต่ที่พายุเข้ารับการผ่าตัดวันแรกจนกระทั่งถึง 24 พ.ย. สภาพจิตใจของเขาดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับวันแรกที่เข้ารักษาตัว

“ที่ผ่านมาพายุจะเงียบ นอนอย่างเดียว ไม่พูดคุยกับใครเลย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความปวดแผล เลยทำให้ไม่อยากสื่อสารกับใคร ญาติที่มาเฝ้าจะคุยด้วยก็ไม่คุย พวกเราถามอะไรไปก็ไม่อยากตอบ ก็เลยปล่อยให้พัก” นิติกรอธิบาย

“ปกติก็แค่ตื่นมากินข้าว เสร็จแล้วก็นอน เมื่อวานนี้คนที่มาเฝ้าบอกว่าเริ่มพูดคุยมากขึ้น เริ่มยิ้มเริ่มหัวเราะได้ เริ่มถามข่าวเกี่ยวกับพี่น้องที่อยู่ข้างนอกว่าเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มอยากกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ขอแท็บเล็ตมานอนฟังซีรีส์ สภาพจิตใจน่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ต้องดูต่อไปว่าอย่างไรหลังจากนี้”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

หลังจากการผ่าตัดตาไปแล้วสองรอบ ช่วงนี้ พายุอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด แพทย์แจ้งกับญาติว่าหลังจากเข้าที่แผลดีขึ้นแล้วจะเปิดแผลดูและประเมินต่อไปว่าสภาพเป็นอย่างไร หลังจากนั้นถึงจะวินิจฉัยแนวทางการรักษาในระยะยาวได้ต่อไป หลังจากที่ได้แจ้งตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารักษาว่าโอกาสที่เขาจะกลับมามองเห็นได้จากตาที่ได้รับบาดเจ็บคือ 1%

กิจกรรมปิดตาทวงคืนความยุติธรรม

ผ่านไป 1 สัปดาห์ ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานใด ต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น

“รู้สึกโกรธแค้นมาตั้งแต่วันนั้น และความรู้สึกนี้ก็ยังอยู่” นิติกรบรรยายถึงความรู้สึกของเขา

“จริง ๆ ส่วนตัวประเมินเอาไว้แล้วว่า (ตำรวจ) จะมาแนวนี้ ตำรวจให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันแรกว่ายังไม่มีข้อมูล ยังไม่ชัดเจน จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อผู้ได้รับบาดเจ็บก็อยู่ในโรงพยาบาลของคุณ มาแถลงแบบนี้มันดูน่าเกลียด รู้ว่าอย่างไรตำรวจก็จะไม่ออกมารับผิดชอบ”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เขาบอกบีบีซีไทยว่าทุกคนที่ไปชุมนุมในวันนั้นไม่คิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรงถึงขนาดนี้ โดยทางผู้ชุมนุมประกาศชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการชุมนุมก็คือการอยากประชาสัมพันธ์ อยากสื่อสารเรื่องราวความเดือดร้อนที่พี่น้องชาวบ้านจากในแต่ละเครือข่ายที่มาว่าเขาได้รับผลกระทบจากนโยบายที่เกี่ยวกับเอเปค

เมื่อกลุ่มผู้เสียหายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาจึงจัดกิจกรรม “ปิดตาข้างเดียว” เพื่อให้คนในกรุงเทพฯ รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และได้ขยายกิจกรรมไปยังต่างจังหวัดด้วย โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่หนึ่งวันหลังจากการชุมนุมจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเกิดขึ้น นำโดยนายอานนท์ นำภา เข้ร้องทุกข์ที่ สน.สำราญราษฎร์

วันต่อมาก็มีตัวแทนจากกลุ่มราษฎรหยุดเอเปคเข้าไปยื่นร้องกรรมาธิการพัฒนาการเมืองของสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อ 23 พ.ย. ก็มีการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน โดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอิสานจาก 4 จังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรที่พายุทำงานอยู่ ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.ยโสธร ไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อขอให้ทำการตรวจสอบและหาคนมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมที่ จ.ขอนแก่น ไปยื่นหนังสือที่สถานีตำรวจภูธรภาค 4 และสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ให้ชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าตำรวจควบคุมฝูงชนที่มาจาก จ.ขอนแก่น ไปเข้าร่วมปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 18 พ.ย. ด้วย

“ตั้งใจจะจัดกิจกรรมรูปแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากให้กระแสเรื่องนี้มันเงียบหายไป จึงคิดทำกิจกรรมให้มีความต่อเนื่อง และสื่อสารเรื่องราวความคืบหน้าอยู่เรื่อย ๆ จนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาแสดงความรับผิดชอบ” นิติกรอธิบาย

“พวกเรารู้สึกว่าเรื่องนี้ยังไปไม่ไกลมาก สื่อจากต่างประเทศยังไม่รู้เรื่องนี้เลยว่ามีการสลายการชุมนุมจนถึงขั้นมีคนได้รับบาดเจ็บ ก็เลยคุยกันว่าวันที่ 28 หรือ 29 พ.ย. จะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนต่างประเทศ รู้สึกว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในการรับรู้ที่ค่อนข้างแคบอยู่”

หลังจากที่พายุได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้ เขายืนยันว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ อีกซักพักหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด เขาจะออกจากโรงพยาบาลได้ภายในสัปดาห์หน้า ตอนนี้ทีมแพทย์ก็ประเมินอาการเป็นรายวันอยู่

“เรื่องคดีคือฟ้องแน่ ๆ แต่ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมข้อมูลและปรึกษาหารือกับทีมทนาย และที่สำคัญคือต้องรอให้พายุตัดสินในร่วมด้วย” นิติกรกล่าว   

ตำรวจว่าอย่างไร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

หลังวันเกิดเหตุ 18 พ.ย. พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงชี้แจงกรณีใช้กระสุนยางว่า เพื่อการป้องกันตนเองจากผู้ที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ขณะเดียวกันมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายซึ่งหน้าไป 10 คน

ต่อมา พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ระบุภายหลังรับหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อ 24 พ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าเหตุการณ์เมื่อ 18 พ.ย. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งก็ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา กรณีค่าเสียหายต่อผู้ชุมนุมจากการสลายการชุมนุม ได้นำเรื่องถึง ผบ.ตร. แล้ว โดยผู้ชุมนุมมีสิทธิร้องต่อศาลกรณีที่ถูกละเมิดได้ พร้อมเสนอให้ผู้ชุมนุมรวบรวมความเสียหายให้ตำรวจ ซึ่งจะมีการพิจารณาหลังจากนี้ตามขั้นตอนทางราชการ “ไม่มีใครอยากให้เกิดทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งฝ่ายตำรวจและผู้ชุมนุมก็บาดเจ็บ ของตำรวจก็มีหนึ่งรายที่ดวงตาอาจจะมองไม่เห็น” ส่วนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ในอนาคต ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดการป้องกันเหตุร่วมกัน

เรียกร้องรัฐยุติความรุนแรง

22 พ.ย. ฮิวแมนไรท์สวอทช์รายงานทางเว็บไซต์ขององค์กรถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น โดยในบทความดังกล่าวได้อ้างอิงคำพูดของ เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ว่า “การใช้กำลังของรัฐบาลไทยต่อผู้ชุมนุมทำให้เสียภาพลักษณ์ในฐานะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค และเป็นการเน้นย้ำถึงการไม่อดทนต่อเสียงที่ไม่เห็นด้วย”

“ผู้แทนต่างชาติที่เข้าร่วมต่างได้เห็นว่ารัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อายที่จะปราบปรามการประท้วงอย่างสันติในประเทศไทยด้วยวิธีที่รุนแรง”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ก่อนหน้านี้เมื่อ พ.ย. 2563 โฆษกของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้กำลังโดยกองกำลังความมั่นคงของไทยว่า “เป็นเรื่องน่าสลดใจที่เห็นการใช้อาวุธที่ร้ายแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมถึงการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง”

“เป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลไทยจะละเว้นจากการใช้กำลังและประกันการคุ้มครองอย่างเต็มที่สำหรับทุกคนในประเทศไทยที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสันติในการประท้วง”

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าในช่วงสองปีต่อมา ทางการไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อกังวลของเลขาธิการยูเอ็น โดยตำรวจยังมีการทำร้ายผู้ชุมนุมอยู่หลายครั้งโดยไม่ต้องรับโทษ

“รัฐบาลไทยควรหยุดปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรง และสอบสวนอีกทั้งดำเนินคดีอย่างเหมาะสมกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดข้อตกลงนั้น โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหรือยศ” เพียร์สันกล่าว

“รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและสหประชาชาติควรเรียกร้องต่อสาธารณะให้รัฐบาลไทยยุติการปราบปรามทางการเมืองและเข้าร่วมการเจรจาเกี่ยวกับการปฏิรูปประชาธิปไตยแทน”   

สื่อมวลชนร้องสภาฯ หลัง ตร. เฉย

24 พ.ย. ตัวแทนสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของตำรวจในการสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อ 18 พ.ย. เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านทางนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. ขอให้ตรวจสอบสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบ รวมถึงเชิญผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผบ.ตร., ผบช.น. และ ผบก.อคฝ. มาชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันหามาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอ อีกในอนาคต

มีสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 4 รายจากการสลายการชุมนุมในครั้งนั้น ทั้งหมดต่างสวมใส่เครื่องหมายแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน (ปลอกแขน)

ผู้แทนสื่อแจ้งต่อประธานกรรมาธิการว่า การสลายการชุมนุมโดยไม่สนใจสัญลักษณ์ดังกล่าว ไม่เพียงผิดกับข้อตกลงที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเคยตกลงไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ตั้งแต่ปี 2564 ยังอาจขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งในคดีหมายดำที่ พ3683/2564 (คดีกระสุนยาง) ที่ศาลแพ่งได้สั่งให้ทาง สตช. “..ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน..”

ในคำร้องต่อ กมธ.ผู้แทนสื่อได้แนบคลิปจากการไลฟ์สดของสื่อมวลชน รวมถึงคลิปที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ถึงเหตุการณ์ตำรวจ คฝ.เข้าทำร้ายนักข่าว The MATTER และการปาวัตถุจากทิศทางซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนอยู่เข้าใส่ช่างภาพ Reuters จนได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา รวมทั้งหมด 7 คลิป เพื่อประกอบการพิจารณา

ที่มาของภาพ, The Matter

คำบรรยายภาพ,

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER (ขวา) ยืนหนังสือร้องเรียนต่อนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธาน คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

ยโสธร

ยโสธร

เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ

Next Post
















Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.